อพท.ยก “เกาะหมาก” ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ CE รับเทรนด์วิถีใหม่

อพท. ชู “เกาะหมาก” ต้นแบบ Circular Economy ขับเคลื่อนอุตสหากรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขยายผล ยุทธศาสตร์ชาติ BCG Model เป้าหมาย 5 ปี ขึ้นแท่นพื้นที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในปี 70’

ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะประธานเปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญ (Expert Meeting ) ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy” กับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านการประชุมออนไลน์ระบบ Zoom Webinar กล่าวว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy หรือ Bio-Circular-Green Economy พ.ศ. 2564 –2570 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับนโยบาย BCG มากำหนดเป็นนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงและหน่วยงานที่กำกับดูแล และสำหรับ อพท. ได้มอบนโยบายให้นำ BCG มาปรับใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่รับผิดชอบ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้หลักการของ BCG Model และ Circular Economy ในภาคการท่องเที่ยว แก่บุคลากร อพท. ตลอดจนภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาของ อพท. จะได้นำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานระหว่าง อพท. กับภาคีเครือข่าย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆในห่วงโซ่อุปทาน และยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของการสร้างรายได้ในระดับสูงด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ (SDGs) ของรัฐบาล

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ อพท.มุ่งหวังสร้างความเข้าใจหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับ BCG Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy). ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เกิดการการส่งเสริมให้ภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการขยะภายใต้หลักการ Circular Economy และเกิดข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการนำ Circular Economy มาปรับใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยอย่างยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว” รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าว

นายกฤษณ์ ภูมิสุวรรณ รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 เมืองพัฒนาและพื้นที่เชื่อมโยงฝั่งทะเลตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินงาน 4 จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด กล่าวว่า จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model และการส่งเสริม Circular Economy ในภาคการท่องเที่ยว อพท. ได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่ต้นแบบ เกาะหมาก จังหวัดตราด ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงระยะ 5 ปี (พ.ศ.2565-พ.ศ.2570) ด้วยแผนงานพัฒนากิจกรรมทางการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและชุมชน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะยกระดับเกาะหมากให้เป็นพื้นที่ที่มีมาตรฐานทางการท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ โดยมีเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC เป็นกรอบดำเนินงาน มีเป้าหมายระยะสั้นพัฒนาเกาะหมากให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติติดในรายชื่อ 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 จัดโดยหน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation และ ITB Berlin องค์กรท่องเที่ยวระดับโลก

สำหรับเป้าหมายระยะยาวภายในปี 2570 อพท.จะยกระดับเกาะหมากให้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยผลักดันให้เกาะหมากได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยองค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกของ GREEN DESTINATION เป็นแห่งแรกของประเทศไทย นำสู่การขยายผลในเชิงขององค์ความรู้สู่แหล่งท่องเที่ยวในลักษณะเดียวกัน และยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากทั่วประเทศ ที่มีความสนใจและต้องการจะลงมาศึกษาเรียนรู้ รวมไปถึงการทดลอง ศึกษาวิจัย และการพัฒนาเครื่องมือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเกาะหมากจะต้องเป็นพื้นที่ต้นแบบของการลดผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวให้มากที่สุด โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่การฝังกลบหรือเผาทำลาย ผ่านกระบวนการตามหลักการ Circular Economy โดยพยายามบริหารจัดการให้มีการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

ส่วนศ.ดร. วิสาขา ภู่จินดา คณบดีคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กล่าวในการประชุมครั้งนี้ว่า BCG Economy จะนำไปสู่การกำหนดแนวปฏิบัติใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องการสร้างรายได้และกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว การใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล (Re-Cycle) รวมถึงการนำขยะไปผลิตพลังงานทดแทน (Waste to Energy) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมชุมชนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะหรือที่เรียกว่า Re-Cycling เพื่อเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนได้มากยิ่งขึ้น เกิดการยกระดับการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ตามหลักการ “ทำน้อยแต่ได้มาก”

อย่างไรก็ตามการจัดประชุมครั้งนี้ส่งผลให้ภาคีเครือข่าย อพท. เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของ Circular Economy และความสัมพันธ์กับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ แหล่งท่องเที่ยว ในการบริหารจัดการขยะภายใต้หลักการ Circular Economy ซึ่งภาคีได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะการนำ Circular Economy และนำมาปรับใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยอย่างยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวต่อไป


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment