{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าต่อยอดแพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย ระดมความร่วมมือหน่วยงานชั้นนำของประเทศจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ มาร่วมกันสร้าง เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย เพื่อก่อให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ในการ พลิกฟื้นประเทศ...ด้วยนวัตกรรมไทย โดยร่วมกันเป็นผู้แทนในการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความตื่นตัว และความภาคภูมิใจในนวัตกรรมฝีมือคนไทย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความชำนาญระหว่างกัน ล่าสุดมีเครือข่าย 73 องค์กร ที่ตอบรับและพร้อมจะขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นคือการก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573 และนำประเทศไทยก้าวเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่เหมาะสม การกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ชัดเจน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และยืดหยุ่นในการปฏิบัติ โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติได้ระบุวาระการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทหลักของ อว. ในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม ผ่านการบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างและแปลงนวัตกรรมสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในส่วนกลาง แต่ยังขยายโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปยังภูมิภาค นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ครอบคลุมทั้งการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชิงสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า จากวิกฤตปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น กับดักรายได้ปานกลาง ต้นทุนการผลิตสูง การแข่งขันทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ห่วงโซ่อุปทานของโลกกำลังเปลี่ยนไป ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งการเข้าถึงบริการของรัฐ การเข้าถึงด้านดิจิทัล ด้านการศึกษา และ ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น PM 2.5 ปัญหาน้ำแล้ง น้ำเค็ม น้ำท่วม ฯลฯ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่ง NIA เชื่อว่า “นวัตกรรม” จะเป็นทางออกในการพลิกฟื้นประเทศจากวิกฤต จึงต่อยอดแพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย ภายใต้แนวคิด พลิกฟื้นประเทศ…ด้วยนวัตกรรมไทย โดยมุ่งเน้นให้คนไทยเห็นความสำคัญในการร่วมกัน “พลิกธุรกิจให้รอด” จากการนำนวัตกรรมมาพลิกโมเดลธุรกิจ “พลิกชีวิตให้สุข” จากการนำนวัตกรรมมาพลิกแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ “พลิกสิ่งแวดล้อมให้ดี” จากการนำนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม”
แพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” โดยวางกรอบการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) จุดยืนนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยอยู่ใน 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก ภายในปี 2573 เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศด้านนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับระดับโลก 2) ดีเอ็นเอนวัตกรรมประเทศไทย ที่มุ่งสร้างให้เกิดอัตลักษณ์ไทยรังสรรค์คุณค่าใหม่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นใน 7 ด้าน และ 3) เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ด้วยการสร้างให้เกิดพันธมิตรนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลกผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ และ 4) แดชบอร์ดนวัตกรรมประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้เกิดข้อมูลนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลนวัตกรรมของประเทศที่มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วน
การเปิดตัว “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” เป้าหมายในการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านนวัตกรรม และทำให้คนไทยและชาวต่างชาติรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่เป็น นวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ประณีต โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ ซึ่งขณะนี้มีองค์กร 73 แห่ง ที่ตอบรับเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งจะร่วมมือกันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) เป็นผู้แทนประเทศในการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมความร่วมมือกันในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การลงนาม ความร่วมมือ การจัดสัมมนานวัตกรรม การจัดแสดงผลงานนวัตกรรม 2) สร้างการรับรู้และความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย ผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เกิดความตื่นตัวและสนใจนำนวัตกรรมฝีมือคนไทยมาใช้หรือต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และ 3) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความชำนาญระหว่างกัน ผ่านความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ด้านนวัตกรรมทั้งแนวกว้างและแนวลึกระหว่างหน่วยงานในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย
ผู้สนใจดูนวัตกรรมไทยที่น่าภาคภูมิใจได้ที่ www.innovationthailand.org หรือ FB : Innovation.THA และสามารถดูข้อมูลความรู้ การให้บริการนวัตกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างและใช้ประโยชน์นวัตกรรมอย่างแพร่หลาย ได้ที่ https://data.nia.or.th
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS