NCAP ปรับทัพสู่ฟินเทค ลุยจำนำทะเบียนปี65

NCAP เปิดตัว CEO ใหม่ “ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา” ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ฟินเทค เจาะฐานลูกค้ากลุ่ม Underbanked แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ตั้งเป้าปี 65 รับจำนำทะเบียน ส่วนผลงานปี 64 มั่นใจรายได้ตามเป้า

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (NCAP) เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้ NCAP จะยังคงมุ่งมั่นขยายตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จากผลงานในไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีเครือข่ายสาขา 24 สาขา สามารถเข้าถึงลูกค้าครอบคลุม 51 จังหวัด หรือคิดเป็นการเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศประมาณ 95% แล้ว มีพันธมิตรดีลเลอร์ราว 602 ดีลเลอร์ และพนักงานภาคสนาม 352 คน แผนการโตในช่วงต่อจากนี้ จะไม่เน้นการขยายสาขาหลัก บริษัทฯ จะใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะ การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส จากสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่รูปแบบดิจิทัล ผนวกกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร จะสามารถสร้างความแตกต่าง และมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าได้ ด้วยต้นทุนในการขยายธุรกิจในระดับที่ต่ำลง

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นนำ AI มาช่วยสนับสนุนการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วกว่าปกติ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าที่ดี และเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม สะท้อนจากภาพรวม NPL ในไตรมาส 2 ปีนี้ อยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี ภาพรวมธุรกิจในอนาคต NCAP จะปรับเข้าสุ่ธุรกิจฟินเทคอย่างเต็มตัวมากขึ้น เจาะฐานลูกค้ากลุ่มที่ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นฐานลูกค้ากลุ่มหลักในปัจจุบัน และมีแผนขยายไปยังธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ถึง 7 เท่า มุ่งเน้นสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมที่นอกเหนือจากสินชื่อรถจักรยานยนต์ คาดได้เห็นความชัดเจนภายในปี 2565

"ภาพรวมตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ มีขนาดประมาณ 75,000 - 80,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่เราให้ความสำคัญ และมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต อีกทั้ง เรากำลังเดินหน้าต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม จากปัจจุบันเรามีฐานลูกค้าเดิมประวัติดีที่ผ่อนจบกับเราแล้ว และลูกค้าที่ยังมีความเคลื่อนไหวรวมประมาณ 2 แสนราย ที่จะสามารถเริ่มต้นในการขยายไปยังธุรกิจจำนำทะเบียนรถได้ทันที นอกจากนี้ แผนขยายไปยังธุรกิจไฟแนนซ์อื่นๆ เจาะฐานะลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพอิสระ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบจากธนาคารได้ (Underbanked) ซึ่งตัวเลขกลุ่มนี้มีจำนวนสูงถึงประมาณ 15 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล และไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป NCAP จึงรุกไปข้างหน้า ไปยังตลาดที่ใหญ่กว่าเดิม ด้วยจุดดมุ่งหมายในการเป็นที่พึ่งทางการเงินให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้” นายปุณณมาศ กล่าว

สำหรับภาพรวมธุรกิจปี 2564 ประเมินมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมั่นใจจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 15% จากปีก่อนมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,141.40 ล้านบาท โดยมีธุรกิจหลักให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 NCAP มุ่งเน้นการบริหารจัดการอย่างรัดกุม รถจักรยานยนต์ยังถือเป็นพาหนะหลักในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ ส่งผลให้ภาพรวมพอร์ตสินเชื่องวดล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ มีมูลค่าพอร์ตรวมอยู่ที่ 4,296.80 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรก NCAP มีมูลค่าสัญญาใหม่เพิ่มขึ้น 1,670 ล้านบาท หรือเพิ่มเขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 78% ขณะที่ปีที่แล้วสัญญาใหม่รวมทั้งปีอยู่ที่ 2,302 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (Small Bike) สัดส่วนประมาณ 54% สะท้อนดีมานด์ยังอยู่ในระดับสูง และตั้งเป้าสิ้นปีนี้ NCAP จะมีพอร์ตสินเชื่อรวมโตไม่ต่ำกว่า 20%

ก่อนหน้านี้ NCAP ประกาศผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 149.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112% รายได้รวมอยู่ที่ 636.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากจำนวนสัญญาเช่าซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 23.5% แข็งแกร่งต่อเนื่อง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment