{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD เผยรายได้รวมไตรมาส 2/2564 ทำนิวไฮต่อเนื่องที่ 1,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.5% และมีกำไรสุทธิ 115.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% คาดปีนี้ทำรายได้แตะ 5,000 ล้านบาท เตรียมแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 สามารถทำรายได้เป็นสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีรายได้รวม 1,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 115.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หากไม่นับรวมกำไรพิเศษที่เกิดขึ้น บริษัทฯ จะมีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core Profit) อยู่ที่ 106.5 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรจากการดำเนินงานหลักอยู่ที่ 96.8 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้มีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 เนื่องจากดีมานด์ในธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง ประกอบกับบริษัทฯ ขยายการลงทุนได้ตามแผนงาน โดยธุรกิจที่มีอัตราเติบโตก้าวกระโดดในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้า มีรายได้ 202.7 ล้านบาท เติบโต 112.7% ธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์ มีรายได้ 121.2 ล้านบาท เติบโต 100.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตราย มีรายได้ 147.7 ล้านบาท เติบโต 49.2% และสามารถทำนิวไฮต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งโดยปกติไตรมาส 2 จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ส่วนธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ (Logistics Infrastructure) และธุรกิจห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า (Self – Storage) มีรายได้เติบโตกว่า 1-3 เท่าตัว จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ เริ่มรับรู้รายได้จากเข้าควบรวมกิจการกับ วีเอ็นเอส ทรานส์สปอร์ต หรือ VNS จำนวน 60.7 ล้านบาท และอีก 37.6 ล้านบาท จาก JWD Asia Logistics (Cambodia) หลังเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเป็น 60% ส่งผลดีต่อภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ที่มีรายได้รวม 2,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 256.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“รายได้รวมที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ติดต่อกัน 2 ไตรมาส ตอกย้ำว่าเป็นปีแห่งการเติบโตของบริษัทฯ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นในบางธุรกิจ ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับปกติหรือสูงกว่าช่วงก่อน COVID-19 แล้ว เช่น ธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานของผู้ผลิตยานยนต์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 37.0% จากจุดต่ำสุดในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 10.7% ธุรกิจรับฝากและบริหารสินค้าอันตรายที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 46.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 29.3% รวมถึงธุรกิจห้องเก็บของส่วนตัวที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 32.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ยังไม่ทำกำไร” ดร.เอกพงษ์ กล่าว
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD กล่าวว่า จากผลการดำเนินงาน ที่เติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก จึงคาดว่าบริษัทฯ จะทำรายได้รวมทั้งปีแตะ 5,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตกว่า 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมประมาณ 3,922 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากจะรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องจาก วีเอ็นเอส ทรานส์สปอร์ต และ JWD Asia Logistics (Cambodia) เทียบกับครึ่งปีแรกที่เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 นอกจากนี้ จะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุนจากการเข้าถือหุ้น 15% ใน บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด หรือ ESCO ผู้ประกอบการท่าเรือคอนเทนเนอร์รายใหญ่ในท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และ ผู้ให้บริการสถานีบรรจุและขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ลาดกระบัง (Inland Container Depot หรือ ICD) อย่างช้าภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และมีแผนเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นใน ESCO เป็น 20% ในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนขยายลงทุนในธุรกิจด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการขยายธุรกิจแบบ B2C เพื่อขยายฐานลูกค้าที่เป็นผู้บริโภค จากเดิมที่เน้นลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก ทั้งการลงทุนในธุรกิจเดิมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถขยายฐานลูกค้าและขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี
“เรามั่นใจว่าจากแผนธุรกิจและการลงทุนที่วางไว้ จะเป็นปีที่ JWD เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 โดยปัจจุบันยังมีดีมานด์ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ คลังสินค้าทั่วไป, คลังห้องเย็น, บริการรับฝากและบริหารสินค้าอันตราย, บริการขนส่งสินค้า ฯลฯ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้” นายชวนินทร์ กล่าว
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS