บัญชีกลางออกมาตการช่วยผู้ประกอบการที่โดนพิษโควิด 19

กรมบัญชีกลางออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ให้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีแนวทางให้กำหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด 19 ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เสนอคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) และอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4) อนุมัติยกเว้นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 162 โดยกำหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ 0 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

กรณีสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ที่ได้ลงนามก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่

- หากจำนวนค่าปรับที่เกิดขึ้นมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 25 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 จะไม่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ

- มีค่าปรับเกิดขึ้นก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

- มีค่าปรับเกิดขึ้นก่อนวันที่ 26 มีนาคม 2563 แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายภายหลัง วันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

- หากสัญญาฯ ครบกำหนดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ซึ่งได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาฯ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

- หากสัญญาฯ ครบกำหนดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายภายหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้นับจำนวนวันที่ต้องปรับตามสัญญาฯ แล้วให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 เป็นจำนวนเท่ากับวันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

- หากสัญญาฯ ครบกำหนดหลังประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้นับจำนวนวันที่ต้องปรับตามสัญญาฯ แล้วให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 เป็นจำนวนเท่ากับวันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

กรณีสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ที่ได้ลงนามหลังวันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่

- สัญญาฯ ครบกำหนดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้คิดค่าปรับ ในอัตราร้อยละ 0

- สัญญาฯ ครบกำหนดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 เป็นจำนวนเท่ากับวันที่ลงนามตามสัญญาฯ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

- สัญญาฯ ครบกำหนดหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย และมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้นับจำนวนวันที่ต้องปรับตามสัญญาฯ แล้วให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 เป็นจำนวนเท่ากับวันที่ลงนามตามสัญญาฯ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

“กรณีที่หน่วยงานของรัฐได้พิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาฯตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 102 แล้ว ให้นำจำนวนวันดังกล่าว มาหักออกจากจำนวนวันตามมาตรการข้างต้น โดยจำนวนวันที่เหลือให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ซึ่งค่าปรับส่วนที่เกินจำนวนวันตามมาตรการนี้ ให้คิดในอัตราที่กำหนดในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือตามอัตราปกติ โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 183 ต่อไป ส่วนกรณีสัญญาฯ ที่ได้ลงนามหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แล้ว จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐสามารถนำหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 693 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ไปใช้ในการแก้ไขสัญญาฯ ให้สอดคล้องกันต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง หมายเลข 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment