ค่าปรับใบสั่งกระฉูด ติดใจคืนแผ่นดินเศษเสี้ยว ตร.ยิ้มใช้ไอทีจับผิด ลดทุจริต งดต่อทะเบียน ได้เต็มเม็ด

นับจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2560 เรื่องมาตรการ เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560

ข้อสำคัญคือการระบุให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งของตำรวจต้องไปเสียค่าปรับ ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะไม่สามารถต่อทะเบียนภาษีรถยนต์ได้

สร้างกระแสความตื่นตระหนกในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ปฏิบัติผิดกฎหมายจราจรอยู่เป็นนิจ

จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พบว่า ช่วงวันที่ 14 -20 มีนาคม 2560 ก่อนมีประกาศ มีผู้ได้รับใบสั่งให้ไปเสียค่าปรับ 7,888 ราย แต่หลังมีประกาศ ช่วงวันที่ 21-26 มีนาคม 2560 มีผู้มาจ่ายค่าปรับถึง 13,782 ราย

ก่อนหน้านี้ สตช. โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ระบุสถิติการออกใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรในพื้นที่ดูแลของ บช.น ตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2558 มีจำนวน 1,126,726 ราย แต่มีผู้มาชำระค่าปรับจำนวน 419,360 ราย หรือเพียง 37.22% เท่านั้น

และในช่วงเดือนกันยายน 2559 – มีนาคม 2560 มีจำนวนผู้มาชำระใบสั่งเพียงแค่ 11% จากจำนวนใบสั่งกว่า 680,000 ใบ

มั่นใจว่าหลังจากมีประกาศ ปริมาณผู้ที่ได้รับใบสั่งจากตำรวจจะไปจ่ายค่าปรับเพิ่มขึ้น และน่าจะมากกว่าร้อยละ 80% หากระบบการเชื่อมโยงข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกเชื่อมต่อกันสมบูรณ์ เพราะผู้ได้รับใบสั่งไม่สามารถดิ้นรนหนีไปทางไหนได้อีก

ขณะเดียวกัน การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจจับผู้กระทำความผิดด้านการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นอกเหนือ จากใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร พบว่ามีผู้กระทำผิดสูงขึ้น เพราะระบบจะทำการบันทึกรถที่กระทำความผิดกฎจราจรทันที ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเจรจากับเจ้าหน้าที่ได้

ล่าสุด การที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) นำระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางเดินรถในเขตห้าม (Lane Change Camera System) เพื่อตรวจจับและเป็นการบังคับใช้กฎหมายกับรถที่กระทำผิด ลดอุบัติเหตุ และลดปัญหาการจราจรติดขัดมาใช้ 15 จุดในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เพียงแค่วันเดียว มีผู้กระทำผิดเบื้องต้น 27,514 ราย เทียบกับช่วงที่เก็บข้อมูลในเดือนเมษายน 2561 ก่อนใช้ระบบจริง ที่มีผู้กระทำผิดเฉลี่ยวันละ 7,542 รายเท่านั้น

ยอดผู้กระทำผิดเฉพาะ 15 จุดที่ใช้ระบบนี้ เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว

ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการออกใบสั่งตามระบบเพื่อเปรียบเทียบปรับต่อไป

นี่ยังไม่นับรวมระบบการตรวจจับการกระทำผิดกฎจราจรอื่น เช่น การตรวจจับความเร็ว การฝ่าสัญญาไฟแดง การขับรถย้อนศร การระดมพลตรวจจับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ไม่ใส่หมวกกันน๊อค รวมถึงคนซ้อน เป็นต้น

จากนี้ไป จำนวนใบสั่งที่ออกด้วยระบบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นเทพนี้ จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อผ่านไปนานๆ ผู้ขับขี่มักจะลดความระมัดระวัง หรืออาจเผลอลืมได้

เมื่อจำนวนใบสั่งเพิ่มขึ้น การทุจริตของเจ้าหน้าตำรวจลดลง อัตราการไปชำระใบสั่งเพิ่มขึ้นเพราะกลัวไม่ได้ต่อทะเบียน และค่าปรับเป็นธรรมจ่ายเหมือนกันในอัตราเดียวกันที่กระทำผิดในข้อหาเดียวกัน ไม่มีการเหลื่อมล้ำจ่ายค่าปรับไม่เท่ากัน

มั่นใจว่าค่าปรับภาพรวมจะเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร งานนี้ สตช.จะได้รับเงินตอบแทนจำนวนมาก ตามค่าปรับที่เพิ่มทวีคูณ

จากการคำนวณจำนวนใบสั่งที่ออกโดย สตช. เฉพาะในเขตนครบาล ช่วงปี 2559-2560 คาดว่า จะมียอดใบสั่งประมาณปีละ 1.5 ล้านฉบับ คิดอัตราค่าปรับมาตรฐานฉบับละ 500 บาท รวมทั้งปีก็ประมาณ 750 ล้านบาท หากมีผู้จ่ายค่าปรับเพียงแค่ 50% จะมีเงินค่าปรับในเขตนครบาลถึง 325 ล้านบาท

หากใช้ข้อมูลการตรวจจับผ่านระบบการเปลี่ยนเลนล่าสุด ก็มีโอกาสที่ยอดใบสั่งจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ส่งผลให้ค่าปรับภาพรวมแค่ในเขตนครบาล อาจจะขยับเป็นหลักพันล้านบาทต่อปีได้

เมื่อจำนวนค่าปรับเพิ่มขึ้น ก็มีคำถามว่าเงินไปอยู่ที่ไหน ตำรวจได้ส่วนแบ่งเพียงใด

ทั้งนี้อัตราการแบ่งปันค่าปรับที่เกี่ยวกับจราจร ถูกจัดสรรแตกต่างกันตามกฎหมายที่ใช้บังคับ

โดยความผิดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกใบสั่ง อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งมีฐานความผิดอยู่มาก ส่วนใหญ่ก็เป็นโทษปรับ ซึ่งการแบ่งปันค่าปรับจากใบสั่งเข้าเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.5% เท่านั้น ทั้งๆ ที่รัฐเป็นผู้จ่ายเงินลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีและกำลังคน

จึงมีเสียงเรียกร้อง โดยเฉพาะเมื่อ สตช. ได้นำเอาระบบเทคโนโลยีและการออกใบสั่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถนำใบสั่งไปจ่ายได้ตามจุดที่กำหนด โดยไม่ต้องพบเจอเจ้าหน้าที่

ดังนั้น ควรจะยกเลิกการแบ่งปันสัดส่วนดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ และนำเงินเข้าแผ่นดิน เพื่อนำพัฒนาประเทศ รวมถึงจัดระบบการจราจรด้วยเทคโนโลยีดีกว่า จะให้ย้อนกลับไปสู่กระเป๋าเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องออกแรงทำอะไร


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment