ศก.พฤษภาคม64สังสัญญาณชะลอตัว

เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 แต่ยังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่สูง” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ส่งสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.7 และ 41.1 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -7.6 และ -18.2 สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -12.1 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 44.7 จากระดับ 46.0 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 แม้ว่ามาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการม33 เรารักกัน จะสามารถพยุงกำลังซื้อได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การบริโภคเอกชน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 33.6 ต่อปี (แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.2) สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 40.6 ต่อปี (แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -5.5) สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เริ่มมีการค้นพบผู้ติดเชื้อใน Cluster แคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่ง ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -5.6

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 23,057.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 41.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 45.9 ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผักและผลไม้ และเครื่องปรุงรส ขยายตัวร้อยละ 99.2 31.9 และ 25.1 ต่อปี ตามลำดับ 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง 4) กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และ 5) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำขยายตัวร้อยละ 170.3 และ 113.3 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย สหภาพยุโรป อาเซียน-9 และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 243.8 63.2 49.1 และ 44.9 ต่อปี ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2564 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 25.8 ต่อปี และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1 ตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมในหมวดยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 82.3 จากระดับ 84.3 ในเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2564 ในขณะที่ภาคเกษตรยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.6 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวโพด ยางพารา และมันสำปะหลัง สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 6,052 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และอาเซียน ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยขยายตัวร้อยละ 140.2 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าระดับราคาสินค้าจะมีราคาสูงขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 54.9 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 251.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment