{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
“ไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา ชนชั้น วรรณะ หรือความคิดเห็นทางการเมือง ให้ความช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติแก่ผู้บาดเจ็บในสนามรบ เพื่อป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง”
คือหลักการของ “กาชาด”
8 พฤษภาคม ตรงกับ “วันกาชาดโลก” (World Red Cross Day and Red Crescent Day) ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเสียสละอุทิศตนและผลสำเร็จของอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่กาชาดหลายล้านคนทั่วโลก ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามและภัยพิบัติต่างๆ อย่างสุดความสามารถ
วันกาชาดสากล ตั้งขึ้นตามวันเกิดของ นาย อังรี ดูนังต์ (Henry Dunant) ผู้จุดประกายแนวคิดกำเนิดกาชาด ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2371 เมื่อปี 2402 นายอังรี ดูนังต์ ได้พบเห็นความทารุณโหดร้ายของสงครามขณะที่เขาเดินทางไปประเทศอิตาลี เขารู้สึกเศร้าสลดใจ จึงได้ชักชวนชาวบ้านมารวมตัวกันช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจำนวนมากจากสงครามที่ซอลเฟริโน
หลังจากสงครามครั้งนั้นสามปี นายอังรี ดูนังต์ได้เขียนหนังสือ ชื่อว่า “ความทรงจำแห่งซอลเฟริโน” บรรยายเหตุการณ์ความโหดร้ายที่เขาได้พบเห็นในสงคราม โดยได้เสนอแนวคิดว่า “เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะตั้งองค์กรอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือทหารบาดเจ็บในยามเกิดสงคราม”
จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดการริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมกาชาดระหว่างประเทศและสภากาชาดประจำชาติขึ้นในปี 2406 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในยามเกิดภัยสงครามและภัยพิบัติต่างๆ
นอกจากนี้ ยังได้มีการเผยแพร่และพัฒนากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Inter National Humanitarian Law) ซึ่งถือเป็นกฎหมายมนุษยธรรมฉบับแรกของโลกขึ้น ในการประชุมกาชาดระหว่างประเทศในปี 2407 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นที่มาของอนุสัญญา เจนีวา (Geneva Conventions)
กฎหมายฉบับนี้ทำให้องค์กรกาชาดระหว่างประเทศและการสภากาชาดประจำชาติมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วโลกจำนวนมาก ส่งผลให้ นาย อังรี ดูนังต์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งแรกของโลกในปี 2444 และหลังจากนั้น องค์กรกาชาดระหว่างประเทศได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีก 3 ครั้ง
สัญลักษณ์ของกาชาดคือ เครื่องหมายกากบาทแดงบนพื้นหลังสีขาว เพื่อให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แผ่นดินเกิดของผู้จุดประกายแนวคิดก่อตั้งกาชาด โดยในอนุสัญญาเจนีวาได้อนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายซีกวงเดือนแดง (Red Crescent) แทนกากบาทแดง
ในวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี ประเทศสมาชิกกาชาดจะพร้อมใจกันจัดกิจกรรมวันกาชาดโลก โดย Theme ของปี 2561 นี้คือ “Memorable smiles from around the world”
สำหรับประเทศไทย กาชาดไทยถือกำเนิดขึ้นในปี 2436 ช่วงที่กรณีพิพาทดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศสทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นสู้รบกัน ทำให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ จึงได้รวบรวมสตรีอาสาสมัครและทำบันทึกกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้ง “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” ขึ้น เพื่อปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ทหารที่บาดเจ็บ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชดำริว่าเป็นความคิดอันดีงามตามแบบอารยประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดง” ขึ้น ในวันที่ 26 เมษายน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาสภากาชาดไทย พร้อมกันนั้นได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ และพระบรมราชานุญาตให้เรี่ยไรเงินจัดตั้งได้ถึง 443,716 บาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมากในสมัยนั้น
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทย ตามแบบอย่างโรงพยาบาลกาชาดของญี่ปุ่นที่เคยทอดพระเนตร สมัยกลับจากการศึกษาที่ประเทศอังกฤษและผ่านมาทางญี่ปุ่น ทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงสร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ พระราชทานชื่อว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์ในพระราชบิดา
สภากาชาดไทยได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2463 และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2464
ขอบคุณข้อมูลจาก
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS