อภิมหาเศรษฐีมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความอัตคัดชนชั้นกลาง-ล่าง

Forbes Media ได้จัดอันดับกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทยปี 2561 พบว่า มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยทรัพย์สินของผู้ที่ติดทำเนียบ 50 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในไทยรวมกันมากกว่า 5.06 ล้านล้านบาท (กว่า 1.62 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) มากกว่าเงินงบประมาณของประเทศไทยปี 2561 ที่กำหนดไว้ 2.99 ล้านล้านบาท เกือบ 2 เท่า

สองในสามของผู้ที่ติดทำเนียบ 50 บุคคลร่ำรวยที่สุด มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เฉพาะสี่อันดับแรกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกัน 7.81 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ)

เชื่อหรือไม่? กลุ่ม 50 มหาเศรษฐี มีรายได้รวมกันมากกว่า 30% ของจีดีพีประเทศไทย

ส่วนรายชื่อที่ประกาศเป็นอภิมหาเศรษฐีก็อยู่ในกลุ่มเดิมๆ เพราะเครือข่ายธุรกิจส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย โดยเฉพาะคนจน คนชั้นกลาง ล่าง เกือบหมด ทั้งเรื่องอุปโภค บริโภค หรือแม้แต่การประกอบอาชีพซึ่งเป็นที่มาของรายได้

10 อันดับแรกในทำเนียบมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงสุด

1. ตระกูลเจียรวนนท์แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทรัพย์สินมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 9.37 แสนล้านบาท

2. ตระกูลจิราธิวัฒน์แห่งกลุ่มเซ็นทรัล มูลค่าทรัพย์สิน 6.62 แสนล้านบาท

3. เฉลิม อยู่วิทยา แห่งกระทิงแดง มูลค่าทรัพย์สิน 6.56 แสนล้านบาท

4. เจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ มูลค่าทรัพย์สิน 5.43 แสนล้านบาท

5. วิชัย ศรีวัฒนประภา แห่ง คิง เพาเวอร์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.62 แสนล้านบาท

6. กฤตย์ รัตนรักษ์ จากทีวีช่อง 7 มูลค่าทรัพย์สิน 1.15 แสนล้านบาท

7. สารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอแห่ง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.06 แสนล้านบาท

8. นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จากบางกอกแอร์เวย์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.04 แสนล้านบาท

9. Aloke Lohia จาก บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส มูลค่าทรัพย์สิน 1.03 แสนล้านบาท

10. วานิช ไชยวรรณ จากบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 9.36 หมื่นล้านบาท

(ข้อมูลจาก www.forbesthailand.com และ www.forbes.com/thailand)

ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นของบรรดามหาเศรษฐี เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มกลับมากระเตื้องอีกครั้ง การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ในปี 2561 เพราะแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงความต้องการในประเทศฟื้นตัว ทำให้มีการปรับตัวของราคาหุ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า

อย่างไรก็ตาม แม้มหาเศรษฐีจะมีทรัพย์สินมากขึ้น แต่ภาพรวมของคนยากจนในประเทศไทยยังคงมีมากเหมือนเดิม ขนาดภาครัฐพยายามที่จะอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อไปลดความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีกับคนจน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงครึ่งปีแรก 2560 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,973 บาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,897 บาท ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายสูงกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ คือยิ่งทำยิ่งหาไปเรื่อยๆ รายได้จะเริ่มไม่พอรายจ่าย

โดยครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 51 มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยประมาณ 177,128 บาทต่อครัวเรือน หรือคิดเป็น 6.6 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้ คือทำมาเท่าไรก็ไม่เพียงพอใช้หนี้

ตัวเลขหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ของปี 2560 เทียบกับจีดีพีอยู่ที่ 78.4% แม้จะลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้า แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติก็ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของกลุ่มเกษตรกรที่อาจประสบปัญหาเรื่องราคาเรื่องภัยแล้ง

ส่วนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2560 จะอยู่ประมาณ 77.5% ซึ่งผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเกษตรกรมีภาระหนี้สูงขึ้น

ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจ กลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน พบว่าภาระหนี้สินครัวเรือนของแรงงานไทยปี 61 เป็นหนี้เฉลี่ย 137,000 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.95% เทียบกับปี 2560 หรือสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2552

สาเหตุส่วนใหญ่เพราะรายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น (สินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นของกลุ่มมหาเศรษฐี) ภาระหนี้สินมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น

ยังไม่นับยอดที่ไปลงทะเบียนคนจนกับทางการ 11.4 ล้านคนที่มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 100,000 บาท แต่ยังต้องอยู่ต้องกินท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น

การที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีออกมาป่าวประกาศจะให้ปี 2561 คนจนหมดประเทศ อาจทำได้หากคิดคำนวณตัวเลขให้อยู่เหนือเส้นความยากจน

เอาตัวเลขความแตกต่างระหว่างข้อมูลของสภาพัฒน์ ที่ระบุว่าในปี 2559 มีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับเส้นความยากจนประมาณ 5.8 ล้านคน เทียบกับยอดที่มาลงทะเบียนกับกระทรวงการคลัง ที่มีถึง 11.4 ล้านคน ยังสร้างความแปลกใจถึงความแตกต่างของข้อมูล

ดังนั้น การจะทำให้คนจนในประเทศไทยหมดไปโดยเร็ววันนี้ ด้วยกระบวนการของรัฐ คงทำได้ยากในแง่ของความเป็นจริง

แต่ลองคิดอีกมุมหนึ่ง ถ้าเอาเงินเจ้าสัวมาแจกใช้หนี้ให้คนจน เชื่อว่าคนจนจะหมดประเทศได้ภายใน 1 วัน

ตัวเลขทรัพย์สินและจำนวนของมหาเศรษฐีที่เพิ่มขึ้น เทียบกับคนที่มีรายได้น้อยและคนจนยังมีช่องห่าง มีความเหลื่อมล้ำกันมากเหลือเกิน จนน่าจะปลดเปลื้องความยากจนให้แก่คนจนทั้งแผ่นดินได้

หรือท่านว่าอย่างไร?!?

----------------------

ขอบคุณข้อมูล

มูลค่าทรัพย์สิน จาก www.forbesthailand.com

ขนาดของจีดีพี จาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

เงินงบประมาณ จาก สำนักงบประมาณ

ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สศช.

http://social.nesdb.go.th/social/Default.aspx?tabid=131


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment