TEAMGห่วงฝนทิ้งช่วง เตรียมรับน้ำหลาก

ทีมกรุ๊ปคาดการณ์ฤดูฝนประเทศไทยปี 64 เริ่มกลางเดือน พ.ค.เตือนฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค. ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง-อีสานใต้ และภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG เปิดเผยว่า บริษัทได้ติดติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำฝนในปี2564 พบปรากฏการณ์ลานีญา จะเกิดฝนตกหนัก-ลมกระโชกแรง-ลูกเห็บตกจากอิทธิพลพายุฤดูร้อนตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะมีฝนตกชุกต่อเนื่อง และมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นช่วงปลายเดือน

อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะลดลงเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมีผลกระทบต่อภาคการเกษตรนอกเขตชลประทาน ช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน ฝนจะเริ่มกลับมาชุกและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ตั้งแต่จังหวัดสุโขทัยลงมาจนถึงจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีเพียงแค่พื้นที่แก้มลิงหนองหลวง จังหวัดสุโขทัย และแก้มลิงบางระกำจังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งรองรับน้ำ ซึ่งมีขนาดไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณน้ำฝนตกพื้นที่ท้ายเขื่อนและจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ทำให้ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย พิจิตรและนครสวรรค์ เป็นประจำทุกปี

ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้จัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงหนองหลวง จังหวัดสุโขทัย และแก้มลิงบางระกำจังหวัดพิษณุโลก ไว้รับมวลน้ำหลาก ลดลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและแหล่งเศรษฐกิจจังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ตามรูปแบบโครงการบางระกำโมเดลที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนระยะเวลาปลูกข้าวให้เร็วขึ้นเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ก่อนจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกรกฎาคม และปรับพื้นที่ให้เป็นทุ่งรับน้ำช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มน้ำยมได้ขณะที่ พื้นที่น้ำปิงมีอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก พื้นที่ลำน้ำวัง มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง พื้นที่ลำน้ำน่านมีอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำและระบายน้ำให้เหมาะสมตามสภาวการณ์ของปริมาณน้ำซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วมในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ที่ช่วยบรรเทาน้ำท่วมที่เกิดจากลุ่มน้ำภาคเหนือได้ในเดือนกันยายน และตุลาคมภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนจะตกหนักถึงหนักมากบางแห่งจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน และหากมีพายุก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ พัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลักษณะพายุไต้ฝุ่นพายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งเมื่อปี2562 พายุโซนร้อนวิภา พายุโซนร้อนโพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิ ที่เคลื่อนผ่านภาคอิสานในจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ฤทธิ์ของพายุทำให้ฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืนน้ำท่วมฉับพลันและทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่เกษตรจำนวนมาก ซึ่งในปี2564 ก็ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นเดียวกัน เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเหมือนปีที่ผ่านมา

สำหรับพื้นที่ภาคกลางจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นจุดอ่อนที่จะเกิดน้ำท่วมชาวบ้านริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ต้องระวังฝนตกหนักต่อเนื่องและมวลน้ำหลากจากภาคเหนือตลอดเดือนตุลาคม อย่างอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ช่วงปลายฤดูฝน จังหวัดชลบุรีระยอง และจันทบุรี จะเกิดน้ำจะท่วมจากการระบายน้ำฝนที่ตกหนักนานติดกันหลายชั่วโมงลงสู่คลองและทะเลไม่ทันจังหวัดเพชรบุรี อำเภอปราณบุรี และอำเภอบางสะพาน ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น้ำจะหลากท่วมพื้นที่ช่วงเดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม น้ำอาจจะท่วมส่งท้ายปีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และอำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา

“จากการประมวลวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำปี 2564 แม้ฝนจะมาเร็ว และคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงก่อนมรสุมจะมีฝนตกมากแต่ยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่คล้ายกับปี 2554 ประกอบกับความสามารถของอ่างเก็บน้ำเขื่อนใหญ่ทั้ง4 ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีน้ำอยู่น้อยสามารถรองรับน้ำได้มากกว่าปี 2554ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 มีน้ำรวมกัน 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยและมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งเท่านั้น และสภาพพื้นที่รับน้ำก็เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก” นายชวลิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านน้ำเตรียมแผนรับมือน้ำหลากในฤดูฝนปี 2564 ติดตามสภาพอากาศและประเมินแนวโน้มสถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และพายุอย่างใกล้ชิด รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบเตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยา และแผนการฟื้นฟู เมื่อเกิดอุทกภัยขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment