{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
เจาะลึกความเหลื่อมล้ำไทย แก้ได้ไหม แก้อย่างไร
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผยว่าเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ธนาคารโลก (World bank) รายงานว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยมีผู้ที่เสี่ยงที่จะมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือระดับรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน สะท้อนถึงความเปราะบางของครัวเรือนไทยต่อภาวะวิกฤตและมาตรการช่วยเหลือจากรัฐที่ยังไม่เพียงพอ จากข้อมูลของ World Bank แม้ในระยะยาวระดับความยากจนในไทยจะลดลงค่อนข้างมาก คือจากระดับมากกว่า 65% ในปี 1988 มาอยู่ที่น้อยกว่า 10% ในปี 2018 แต่หากดูเฉพาะตัวเลขในช่วงสั้น ๆ กลับพบว่าระหว่างปี 2015-2018 คนจนในไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 9.8% โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.85 ล้านคน เป็นมากกว่า 6.7 ล้านคน สะท้อนภาพว่าความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เริ่มถึงจุดที่จะไปต่อได้ยาก หรือถึงจุดที่จะเริ่มกลับกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องเร่งหาทางแก้ไขโดยเร็วก่อนที่จะสาย
ในบทความที่ผ่าน ๆ มา KKP Research ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจที่มาจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพในอนาคตพร้อมกับเสนอทางออกที่ควรเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ จะสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive growth) ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีฐานะและผู้ประกอบการรายใหญ่ คงจะไม่ใช่ทางเลือกที่คนในสังคมต้องการ KKP Research ประเมินว่าแม้ปัจจัยภายนอกจะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในไทย แต่โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่มีต้นตอมาจากสถาบันทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการเมืองที่ไม่เป็นธรรม เป็นบ่อเกิดสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังแก้ไขไม่ได้ และท้ายที่สุดจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจไทย
ความเหลื่อมล้ำไทยรุนแรงแค่ไหน ?
ภาพรวมความเหลื่อมล้ำไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูงในทั้งมิติของรายได้ และความมั่งคั่ง คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยอยู่จุดไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก และพัฒนาการด้านความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นอย่างไร
(1) ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยปรับตัวดีขึ้นแต่เกิดจากเหตุผลที่ไม่ยั่งยืน ในมุมมองระยะยาว ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นโดยสัดส่วนรายได้ของคนกลุ่ม 20% บนลดลงต่อเนื่อง (รูปที่ 1) และไม่ได้แย่มากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก (รูปที่ 2) อย่างไรก็ตามงานวิจัยของ PIER ล่าสุดชี้ว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นไม่ได้เกิดจากความสามารถของแรงงาน แต่เป็นผลสำคัญมาจากเงินโอนจากทั้งนโยบายภาครัฐที่ให้กับกลุ่มคนสูงอายุ และจากคนที่เข้ามาทำงานในเมืองโอนเงินกลับไปในชนบทซึ่งไม่ยั่งยืนในภาวะที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุและแรงงานกำลังลดลง ซึ่งหากไม่นับรวมเงินโอนความไม่เท่าเทียมในไทยจะแทบไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นเลย สะท้อนว่าผลิตภาพการผลิตของกลุ่มคนรายได้น้อยไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น
(2) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มสูงขึ้นเร็ว แม้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง หรือสินทรัพย์ที่คนแต่ละกลุ่มถือครอง (เช่น เงินฝากธนาคาร หุ้น ที่ดิน) เป็นปัญหาที่รุนแรงมากในไทย Credit Suisse[1] ประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ (รูปที่ 3) และคนรวยที่สุด 1% ของประเทศถือทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท ต่างกันถึง 2500 เท่ากับค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มที่จนสุด 20% แรกของประเทศ (รูปที่ 4) ในมิติเปรียบเทียบกับต่างประเทศนอกจากเราจะเป็นประเทศที่สัดส่วนความมั่งคั่งของคน 1% สูงที่สุดในโลกแล้วตัวเลขดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระหว่างปี 2008-2018 (รูปที่ 5) ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความมั่งคั่งมีความถ่างกันมากกว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้เป็นเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่หลังวิกฤติปี 1997 เป็นต้นมา (รูปที่ 6)
(3) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยในความเป็นจริง อาจสูงกว่าตัวเลขทางการ ตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของไทย มักอ้างอิงจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งมีความครบถ้วนที่สุด อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในแบบสำรวจมีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนรายได้น้อย เมื่อพิจารณารายได้ต่อคนต่อเดือนในปี 2017 จะพบว่าเมื่อเรียงข้อมูลตามรายได้จากน้อยไปมากครัวเรือนในตำแหน่งที่ 90 (จาก ทั้งหมด 100 ตำแหน่ง) มีรายได้อยู่ในระดับเพียง 21,133 บาท หมายความว่าคนไทยอีกกว่า 90% มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่าระดับนี้ ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ (รูปที่ 7) สะท้อนภาพชัดเจนว่ามีคนบางกลุ่มที่มีรายได้ในระดับสูงกว่านี้แต่ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในการสำรวจ ทำให้ตัวเลขรายได้ของกลุ่มคนรายได้สูงในแบบสำรวจมีแนวโน้มต่ำกว่าความเป็นจริงและตัวเลขความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
(4) เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาโตแบบไม่ทั่วถึง รวยกระจุกจนกระจาย ในมิติการเติบโตของรายได้ ข้อมูลสะท้อนภาพชัดเจนว่ากลุ่มคนรายได้สูงมีรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นเร็วกว่าคนรายได้น้อย (รูปที่ 8) ในขณะที่การบริโภคของคนรายได้น้อยต้องมาจากการก่อหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพราะครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ภาระการจ่ายหนี้ต่อรายได้ (Debt service ratio) ของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยอยู่ในระดับสูงขึ้นอย่างน่ากังวล (รูปที่ 9) แม้ว่าข้อมูลนี้ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนภาพว่าครัวเรือนระดับล่างของไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เร่งขึ้นเร็วในคนรายได้น้อยสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางของครัวเรือนอย่างชัดเจน
เหตุใดไทยยังเหลื่อมล้ำสูง และอนาคตจะเป็นเช่นไร
ความเหลื่อมล้ำไทยถูกขับเคลื่อนจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยเฉพาะตัว งานศึกษาจำนวนมากพยายามประเมินว่าปัจจัยอธิบายความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ (1) ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ โลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (2) ปัจจัยภายในที่เกิดจากนโยบายในประเทศ ได้แก่ โครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายตลาดแรงงานและนโยบายภาษี KKP Research ประเมินว่าความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นผลลัพธ์จากทั้งปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นทั่วโลกและปัจจัยเฉพาะเชิงนโยบายของไทยเองที่ไม่เอื้อต่อการเลื่อนสถานะทางสังคม มีรายละเอียดดังนี้
ข้อที่ 1 ความเหลื่อมล้ำลดลงแต่กลับเร่งขึ้นอีกจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
แม้ว่าความเหลื่อมล้ำไทยจะลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการตามลำดับ แต่ในปี 2015 ภาพรวมความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยกลับแย่ลงอีกครั้ง สาเหตุสำคัญเกิดจากคนไทยสัดส่วนกว่า 31% ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ในขณะที่ภาคเกษตรสร้างรายได้เพียง 7% ให้กับประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรายได้น้อยที่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอก
ในปี 2015 เป็นช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันตกต่ำทั่วโลกและดึงให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลงไปด้วย และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีในช่วงหลังจากนั้น ผลกระทบที่สำคัญเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีรายได้น้อยลงไปกว่าเดิมสะท้อนจากการชะลอตัวลงของรายได้ภาคเกษตร (รูปที่ 10 และ รูปที่ 11)
งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์ทั้งในแง่ของการค้าและการลงทุนประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น จากการช่วยเร่งให้รายได้เฉพาะบางอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นได้เร็ว ในกรณีของไทยโครงสร้างอุตสาหกรรมที่คนรายได้น้อยทำงานอยู่ในภาคเกษตรมาก ประกอบกับความจริงว่าภาคเกษตรไทยขาดการพัฒนาผลิตภาพการผลิตทำให้รายได้เพิ่มขึ้นน้อย ทำให้เมื่อเปรียบเทียบแล้วการเติบโตของค่าแรงในภาพรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่าภาคเกษตร (รูปที่ 12 )
ข้อที่ 2 เกิดมาจนแต่สร้างตัวจนร่ำรวย เป็นไปได้จริงหรือไม่
ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในไทยจะถูกขับเคลื่อนบางส่วนจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ KKP Research ประเมินว่าไทยมีปัจจัยทางนโยบายซึ่งถูกกำหนดจากรัฐอีกหลายอย่างที่มีส่วนซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ แม้ว่ายังขาดข้อมูลที่จะประเมินภาพการเลื่อนสถานะทางสังคมอย่างแม่นยำ แต่ข้อมูลแวดล้อมอื่น ๆ ก็สะท้อนภาพค่อนข้างชัดว่าประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางโอกาสในทุกช่วงวัยของคนในสังคมไทย ทั้งวัยเด็ก วัยทำงานและวัยชรา ดังนี้
(1)ไทยยังขาดการเข้าถึงปัจจัยโอกาสด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียม ในช่วงชีวิตวัยเด็กและวัยเรียน คนรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ นอกเหนือจากประเด็นด้านคุณภาพการศึกษาที่เราทราบกันดีว่าไทยอยู่ในระดับค่อนข้างแย่ การเข้าถึงการศึกษายังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่สูงซึ่งเกิดขึ้นทั้งในมิติของความครอบคลุมทางการศึกษาที่คนรายได้น้อยยังมีสัดส่วนการจบการศึกษาระดับสูงที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แม้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษาของไทยจะอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับหลายประเทศพัฒนาแล้ว (รูปที่ 13) ซึ่งสะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบที่น้อยเกินไปแต่เป็นการไม่ได้ถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาการศึกษาอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกันกับตัวเลขคะแนนสอบ O-net ในแต่ละกลุ่มโรงเรียนที่สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในมิติของคุณภาพการศึกษา (รูปที่ 14) ความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพจะยิ่งส่งเสริมให้ครัวเรือนรายได้สูงสามารถส่งลูกหลานไปเรียนพิเศษและสามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยได้ จึงทำให้แม้คนจะได้รับการศึกษาในระดับเดียวกันแต่คนที่เกิดมาในครอบครัวที่รวยกว่าจะมีแนวโน้มได้งานที่ดีกว่าและรายได้สูงกว่าตามไปด้วย ปัญหาการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันในลักษณะนี้จึงเป็นหนึ่งในต้นตอของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
(2) แรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง ธุรกิจรายเล็กแข่งขันยาก ในชีวิตวัยทำงานหลังจากเรียนจบ หากคนหนึ่งคนเลือกเข้าไปทำงานรับค่าแรงจะเติบโตได้ช้ามาก ตั้งแต่หลังปี 2015 เป็นต้นมาที่เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัวลงส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานแทบไม่เติบโตขึ้นเลย และอยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตของ GDP
(รูปที่ 15) ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนและไม่ส่งผ่านมาถึงแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่กำกับการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นระบบ ทำให้ธุรกิจหลายแห่งสามารถเพิ่มกำไรผ่านการผูกขาด ในขณะที่แรงงานมีอำนาจต่อรองที่ลดลง ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือเรายังขาดกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เหมาะสมและขาดนโยบายช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้กับคนรายได้น้อย (รูปที่ 16)
อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับคนทำงาน คือการเลือกที่จะออกไปประกอบธุรกิจ งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ให้ข้อมูลว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5% มีสัดส่วนกำไรกว่าถึง 60% ของรายรับทั้งหมดซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำในมิติของธุรกิจที่น่ากังวลมากเช่นกัน (รูปที่ 17) ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงธุรกิจรายเล็ก ๆ ให้ไม่สามารถแข่งขันได้เต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าถึงบริการทางการเงินของไทยยังไม่ทั่วถึง โดยบริษัทรายใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่าและหลากหลายช่องทางกว่าซึ่งสะท้อนภาพชัดเจนขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19
(3) ขาดระบบสวัสดิการและกลไกลดความเหลื่อมล้ำ การใช้ชีวิตในช่วงวัยเกษียณ ไทยยังขาดสวัสดิการจากรัฐที่เพียงพอเพื่อ คุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต แม้ด้านสาธารณสุขที่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบรองรับที่ดีมากซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนรายได้น้อยและคนชรา แต่เรายังขาดนโยบายสวัสดิการอื่น ๆ โดยเฉพาะการกระจายรายได้ผ่านการเก็บภาษีคนรวยและช่วยเหลือคนจน (Redistributive Policy) อย่างเป็นรูปธรรม โดยแม้อัตราภาษีไทยจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงแต่ผลต่อการนำไปใช้เพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ยังต่ำ (รูปที่ 18) ทั้งที่การให้โอกาสผ่านการสนับสนุนเงินเป็นสิ่งจำเป็นและจะเป็นการช่วยให้ครัวเรือนเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตพื้นฐานได้ดีขึ้นและสามารถพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการหลุดออกจากความยากจนอย่างยั่งยืนได้
ข้อที่ 3 โควิด-19 ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำแย่ลง
จากปี 2015 ที่เราเจอปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำวิกฤตโควิด-19 จะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยรุนแรงมากขึ้นทั้งในมิติระยะสั้นและระยะยาว จากเหตุผลดังต่อไปนี้
(1) โควิด-19กระทบรายได้ของกลุ่มฐานของปิรามิดรุนแรงกว่ากลุ่มบน กลุ่มแรงงานรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง อาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายหาบเร่แผงลอย ล้วนเป็นกลุ่มเปราะบางที่มักได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ไม่สามารถ work from home ได้ ปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานได้ยาก จึงมีโอกาสที่จะตกงาน ถูกให้พักงาน สูญเสียรายได้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อีกทั้งแรงงานรายได้น้อยยังมักไม่มีเงินเก็บออมมากพอและไม่มีสินทรัพย์อื่น ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ทดแทนได้
นอกจากนี้ มาตรการของทางการไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้ปิดสถานที่ต่าง ๆ กลับไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อผู้ประกอบการรายเล็กที่มีสายป่านสั้นมากกว่ารายใหญ่ อาจถึงขั้นต้องเลิกกิจการและปลดพนักงาน สร้างความเสียหายถาวรต่อธุรกิจและชีวิตคนจำนวนมาก
(2) แรงงานนอกระบบมีจำนวนมาก ขาดรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็งพอ ระบบคุ้มครองทางสังคมของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบในระดับสากล โดยรัฐบาลไทยใช้เงินในเรื่องการคุ้มครองทางสังคมคิดเป็น 3.7% ของ GDP ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม 6.3% ไต้หวัน 9.7% เกาหลีใต้ 10.1% ญี่ปุ่น 23.1% ส่วนหนึ่งมาจากการที่แรงงานไทยอยู่นอกระบบประกันสังคมในสัดส่วนที่สูง (54% ของแรงงานทั้งหมด) (รูปที่ 19) โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการค้า การโรงแรม และภาคบริการต่าง ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 อยู่แล้ว การขาดโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ในกรณีว่างงานหรือสูญเสียรายได้ ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่โควิด-19จะส่งผลต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
(3) ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่ถูกเร่งจากโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส โควิด-19 ทำให้โลกแห่งอนาคตมาถึงเร็วขึ้น ความเสี่ยงจากโรคระบาดทำให้ธุรกิจเร่งปรับตัวไปใช้เครื่องจักรและ automation แทนแรงงาน ผู้ประกอบการบางส่วนปรับตัวไปทำธุรกิจออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากขึ้น ภายใต้เทรนด์การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีนี้ ความไม่เท่าเทียมกันด้านดิจิทัล (digital divide) ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารดิจิทัล คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ที่แตกต่างกัน ยิ่งทำให้กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงและขาดทักษะทางดิจิทัล ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นครัวเรือนรายได้น้อย ยิ่งถูกทิ้งห่างออกไปทั้งในด้านโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ และโอกาสในการเรียนรู้และแข่งขัน ผลกระทบอาจไม่ได้ตกอยู่แค่กลุ่มคนวัยทำงานในตอนนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กวัยเรียนที่ปัญหา digital divide ในด้านการเรียนการสอนยุคโควิด-19จะยิ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาเป็นปัญหารุนแรงขึ้น
ข้อที่ 4 การเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง
KKP Research เคยประเมินผลกระทบจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุต่อเศรษฐกิจไทย ปัญหาแก่ก่อนรวยมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นรุนแรงกว่าในกลุ่มคนจน เนื่องจากกลุ่มคนจนมีรายได้ที่ต่ำ การสะสมความมั่งคั่งที่ต่ำ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง เมื่อคนกลุ่มนี้เข้าสู่วัยชราในภาวะที่ยังไม่ได้เตรียมพร้อมทางด้านการเงินที่เพียงพอ จะยิ่งทำให้มีโอกาสในการพัฒนาตัวเองที่ลดลงและอาจเป็นตัวเร่งให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้ ข้อมูลโครงสร้างอายุของหัวหน้าครัวเรือนในกลุ่มคนรายได้ต่ำสุด 20% แรกของประเทศยังสะท้อนว่าครัวเรือนรายได้น้อยมีโอกาสเจอปัญหาจากสังคมสูงวัยรุนแรง เพราะหัวหน้าครัวเรือนของครัวเรือนรายได้น้อยอยู่ในกลุ่มคนอายุมากกว่า 65 ปีและอายุระหว่าง 50-64 ปีในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ (รูปที่ 20)
การเมือง หนึ่งในรากลึกปัญหาความเหลื่อมล้ำ
การขาดกลไกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในผลพวงที่เกิดจากสถาบันการเมืองที่มีลักษณะไม่เชื่อมโยงกับความรับผิดต่อส่วนรวม (Accountability) แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกนำเสนอโดย Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งเสนอว่าในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ที่ทุกคนมีอำนาจทางการเมืองเท่าเทียมกัน การกำหนดนโยบายของภาครัฐจะเอื้อต่อการกระจายรายได้ให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมมากกว่า และสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive growth) เนื่องจากประชาชนมีอำนาจในการออกเสียงเลือกตั้งและแสดงความคิดเห็น มีการตรวจสอบถ่วงดุลในการทำงานของภาครัฐอย่างอิสระและเป็นระบบ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างแรงกดดันให้รัฐต้องพยายามผลักดันนโยบายที่กระจายผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
ในกรณีของไทยจะพบว่าระบบการเมืองไทยมีการพัฒนาช้ากว่าประเทศอื่น ๆ และมีการเปลี่ยนกลับไปมาหลายครั้งแตกต่างจากประเทศ เช่น ไต้หวันและเกาหลีที่มีการพัฒนาระบบการเมืองเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน (รูปที่ 21) ซึ่งพัฒนาการของสถาบันการเมืองที่ช้าและอ่อนคุณภาพของไทยเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่วัฏจักรของการกระจุกตัวของอำนาจทางการเมืองและความเหลื่อมล้ำ
รูปแบบนโยบายที่ไม่เป็นธรรม ยิ่งทำให้เหลื่อมล้ำ
ข้อมูลจาก World Competitiveness Report 2019 แสดงให้เห็นผลลัพธ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากระบบการเมืองที่ขาดประสิทธิภาพของไทย (1) เสรีภาพของสื่อ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบการทำงานของรัฐ ที่ไทยอยู่ลำดับที่ 113 จาก 141 ประเทศสะท้อนการจัดสรรอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียม และส่งผลไปถึง (2) ด้านความปลอดภัยของประชาชนและการคอร์รัปชั่นได้คะแนนที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากรัฐไม่มีความจำเป็นต้องปกป้องประชาชนที่ไม่มีอำนาจการเมืองจากความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมาย และการขาดระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลนำไปสู่นโยบายที่ไม่เป็นธรรม และ (3) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ดีนัก และ (4) กฎหมายกำกับการแข่งขันที่ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ เอื้อให้เกิดการผูกขาดโดยธุรกิจบางกลุ่ม (รูปที่ 22 และรูปที่ 23) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยแย่ลง
ความเหลื่อมล้ำสูงฉุดการเติบโต
ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงจะสร้างวงจรอุบาทว์ที่ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่เป็นความท้าทายที่ไทยกำลังเผชิญไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย อุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในรูปแบบเก่า การพึ่งพาอุปสงค์ภายนอกประเทศในยุคทีโลกาภิวัตน์เริ่มอิ่มตัว ความเหลื่อมล้ำยังจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่หลุดออกไปจากการอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) จาก (1) ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย และลดความเชื่อมั่นในแง่ของการลงทุนของทั้งบริษัทไทยและต่างชาติลงในระยะยาว และ (2) การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะคนที่มีความสามารถไม่สามารถก้าวขึ้นมาทำประโยชน์ต่อการเติบโตของประเทศได้อย่างเต็มที่
ถึงเวลาแก้ไขความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ
เมื่อนำภาพทั้งหมดมาประกอบกันจะเห็น ”เบื้องหลังกลไกความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย” ซึ่งดูเหมือนกลายเป็นวงจรไม่รู้จบหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมจากภาครัฐ และยิ่งต้องเผชิญความท้าทายนี้แบบรุนแรงขึ้นอีกในยุคหลังจากนี้ไป (รูปที่ 24)
แม้สังคมที่เท่าเทียมกันทุกคนอาจฟังดูเป็นอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ เพราะความเหลื่อมล้ำย่อมเกิดขึ้นจากความสามารถและความพยายามที่แตกต่างกันของแต่ละคนด้วย แต่จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยยังสามารถช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากโอกาสที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งควรถูกเร่งแก้ไขโดยเร็ว
KKP Research ประเมินว่าหัวใจหลักของการแก้ปัญหานี้อยู่ที่การแก้ไขกลไกในระบบเศรษฐกิจที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในด้านโอกาส ซึ่งจากหลักฐานความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นและแนวโน้มที่กำลังแย่ลงจากเหตุการณ์โควิด-19 ชัดเจนว่ากลไกลดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจไม่ทำงาน จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องหันกลับมาทบทวนและออกแบบกลไกทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่เพื่อแก้ไขกลไกที่ยังบกพร่องในแต่ละมิติ
กลไกลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ (1) กลไกทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม สร้างเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแข่งขันบนความเท่าเทียม ปฏิรูปกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ที่เอื้อให้บางกลุ่มได้ประโยชน์จากระบบผูกขาด อันจะนำไปสู่การกระจุกตัวของทรัพยากรทางเศรษฐกิจ (2) กลไกทางภาษีในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง โดยใช้ระบบภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า และภาษีที่เก็บบนฐานของทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดิน รายได้จากทรัพย์สินและมรดก (3) กลไกสวัสดิการของรัฐ ที่ทำให้คนเข้าถึงการศึกษา บริการทางสาธารณสุข สินเชื่อ ที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมทั้งการมีโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ที่เข้มแข็งเพื่อประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีในทุกช่วงเวลาของชีวิต (4) กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และ (5) กลไกกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลัง โดยมีการจัดสรรทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางการคลังไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมของการกระจายรายได้สู่ทุกพื้นที่ในประเทศ
ในทางเศรษฐศาสตร์ เครื่องมือทางนโยบายในการสร้างกลไกลดความเหลื่อมล้ำที่ใช้กันอยู่ในต่างประเทศนั้น มีอยู่หลากหลายให้สามารถพิจารณานำมาใช้ตามความเหมาะสมในบริบทของแต่ละประเทศ (รูปที่ 25)
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร พบว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากคือทางเลือกนโยบาย ในขณะที่นโยบายใดๆ ก็ไม่สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำได้ทั้งหมด แต่นโยบายที่ดีย่อมสามารถลดช่องว่างที่นับวันยิ่งถ่างขึ้นให้แคบลง เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และป้องกันไม่ให้คุณภาพชีวิตของประชาชนถูกกำหนดด้วยสถานะภาพของครอบครัว และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองที่แตกต่างกันแบบไม่มีทางเลือก
พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเติบโต ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้น การคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มในการออกแบบนโยบายภาครัฐ และความตั้งใจจริงในการยกระดับคุณภาพชีวิตคือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
[1] ข้อมูลจาก Crediy Suisse ไม่ใช่ข้อมูลจริงจากแบบสำรวจและอาศัยการประมาณค่าเพิ่มเติมโดยใช้วิธีการทางสถิติ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Credit Suisse global wealth data book
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS