สวทช. ผนึก มธ. ยกระดับอุตสาหกรรมและงานวิจัยตามมาตรฐานสากล

สวทช. ผนึก มธ. เสริมแกร่งบริการ-วิเคราะห์ทดสอบ ยกระดับอุตสาหกรรมและงานวิจัยตามมาตรฐานสากล

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (NCTC: NSTDA Characterization and Testing Service Center) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิเคราะห์ทดสอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ระหว่าง สวทช. กับ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเสริมแกร่งในการพัฒนาวิธีการและบริการแบบทวิภาคี โดยมี ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำนวยการ สวทช. และ รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงนาม ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิเคราะห์ทดสอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาวิธีการและบริการแบบทวิภาคี ณ ชั้น 1 Towe-C Hall อาคาร INC 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นองค์กรที่มุ่งสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรมให้สามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็น โดยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) ดำเนินงานเพื่อให้เกิดมาตรฐานของประเทศไทยที่เทียบเท่ามาตรฐานสากล ผ่านศูนย์ NCTC ซี่งเป็นผู้ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตามวิธีมาตรฐานสากล ซึ่ง NCTC เป็นศูนย์เครื่องมือกลางของ สวทช. สนับสนุนงานวิจัยและให้บริการวิเคราะห์ทดสอบและพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ทดสอบด้วยเทคนิคต่าง ๆ ร่วมกัน (Share use) ลดภาระการลงทุนซ้ำซ้อนของเครื่องมือ สวทช. และประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตามวิธีมาตรฐานต่าง ๆ สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้ามูลค่าสูง เพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานในการพัฒนาและส่งเสริมงานบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ควบคุมระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ISO/IEC17025 เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงานขององค์กร

ปัจจุบัน สวทช. และภาคเอกชนในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายและพันธมิตรที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและความจำเป็นในด้านการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์และมาตรฐานชิ้นงานที่สร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ จึงได้พัฒนาบริการวิเคราะห์ทดสอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และการตรวจประเมินให้การรับรองที่ได้มาตรฐานสากลให้กับภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ทั้งมาตรฐาน ISO มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานเฉพาะทางอื่น ๆ โดย สวทช. มีเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบเพื่อรองรับการวิเคราะห์ทดสอบงานวิจัยและพัฒนาครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนการทำวิจัยที่มีนักวิจัยและเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้ามูลค่าสูงให้กับภาครัฐและเอกชนในหลายอุตสาหกรรม

ด้าน รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลงนามร่วมกันครั้งนี้ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมี ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง ศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา ศูนย์สัตว์ทดลอง ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้บริการเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการ สัตว์ทดลอง ทางด้านการวิจัยและให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนศูนย์ NCTC สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงและเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและส่งเสริมงานบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีคุณภาพห้องปฏิบัติการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของสังคมซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้หน่วยงานทั้งสองฝ่ายได้มีความร่วมมือทางด้านวิเคราะห์ทดสอบ เกิดความร่วมมือในการพัฒนาวิธีการและบริการด้วยเครื่องวิทยาศาสตร์แบบทวิภาคีร่วมกัน เกิดองค์ความรู้ที่บูรณาการระหว่างบุคลากร การประยุกต์ใช้เครื่องมือและทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ จนนำไปสู่นวัตกรรมอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment