สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเผยไทยติด 1 ใน 3 ประเทศน่าลงทุนในอาเซียนจากผลสำรวจ บริษัทในอเมริกาและยุโรปคงมุมมองโอกาสขยายธุรกิจของตนอยู่ในต่างประเทศ
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เผยผลการสำรวจล่าสุด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และผู้บริหารฝ่ายบริหารทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส มองโอกาสการเติบโตของธุรกิจอยู่นอกประเทศตนเอง โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล ปลดล็อคเงินสดที่ไม่เคลื่อนไหว และเพิ่มความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (environmental, social and governance : ESG) ในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าและห่วงโซ่อุปทานเป็นปัจจัยในการพิจารณา
รายงานนี้เป็นฉบับที่ 2 ต่อเนื่องจากฉบับแรกที่ทำการสำรวจเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว โดยผู้ตอบแบบสอบถามสะท้อนความมั่นใจเพิ่มขึ้นในการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ โดยร้อยละ 42 ของผู้ตอบแบบสอบถาม (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37) ประเมินว่าโอกาสการเติบโตของธุรกิจอยู่นอกประเทศของตนเอง
บริษัทในยุโรปและสหรัฐอเมริกามองว่าในช่วงเวลา 6-12 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าขยายการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน ในแง่การเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจด้านการจัดหาวัตถุดิบ การขาย และการดำเนินงาน โดยบริษัทเหล่านี้พิจารณาเรื่อง ESG เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจมากขึ้น ในขณะที่เรื่องกฎระเบียบเป็นประเด็นที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลมากที่สุดในการพิจารณาขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ดังนั้นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้อาจเริ่มด้วยการเพิ่มความตระหนักให้ต่างชาติทราบถึงพัฒนาการด้าน ESG ของประเทศและความคล่องตัวในการทำธุรกิจในประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโต (มากกว่าร้อยละ 85 มีการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียอยู่แล้ว หรือกำลังพิจารณาขยายธุรกิจมาที่นี่) นอกจากนี้ ทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4) แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจะมีแผนขยายธุรกิจไปต่างประเทศ แต่การทำความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบในตลาดต่างประเทศยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด (ร้อยละ 35) สำหรับบริษัทที่กำลังมองหาหรือเสริมความแข็งแกร่งการดำเนินงานในต่างประเทศ ปัจจัยรองลงมาที่เป็นความกังวลของผู้ตอบแบบสอบถามคือการสร้างสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์และการปรับตัวเข้ากับระบบห่วงโซ่อุปทาน (ร้อยละ 21%) ในประเทศเป้าหมายนั้นๆ
บริษัทต่างๆ กำลังมองไปที่ภาวะตลาดหลังโรคระบาดคลี่คลาย โดยผู้ตอบแบบสอบถามสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องสำคัญที่ต้องทำก่อนมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากผลสำรวจครั้งก่อนในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น ความผิดพลาดของระบบห่วงโซ่อุปทาน (ลดลงร้อยละ 2 มาอยู่ที่ร้อยละ 50) และความจำเป็นในเรื่องสภาพคล่อง (ลดลงร้อยละ 2 มาอยู่ที่ร้อยละ 47) เพื่อเพิ่มการลงทุนในระบบดิจิทัลเพื่อเคลื่อนย้ายสภาพคล่อง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 มาอยู่ที่ร้อยละ 66) และเรื่อง ESG (เพิ่มขึ้น 5% มาอยู่ที่ร้อยละ 23)
นายทอร์รี่ เบิร์นท์เซน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ภูมิภาคยุโรปและอเมริกา กล่าวว่า ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ กำลังเริ่มให้ความสนใจการเติบโตและการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ประเด็นเรื่องความยั่งยืน ระบบดิจิทัลและความเข้าใจในกฎระเบียบไม่เพียงแต่เป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังเป็นโอกาสให้บริษัทต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงาน สร้างเติบโตในต่างประเทศ และแข่งขันได้ในตลาด
COMMENTS
RELATED TOPICS