ดัชนีเชื่อมั่นนลท.ยังร้อนแรง

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมกราคม 2564 พบว่า “ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง นักลงทุนคาดหวัง การไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการคลี่คลายสถานการณ์ COVID-19 โดยมีข่าวดีเรื่องวัคซีนที่ทยอยออกมา และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ รองลงมาคือสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมกราคม 2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน 2564) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120 -159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 132.55

ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ซึ่งความเชื่อมั่น กลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น 22% อยู่ที่ระดับ 144.07 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 3% อยู่ที่ระดับ 125.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลง 1% อยู่ที่ระดับ 117.65 และกลุ่มนักลงทุน ต่างชาติปรับตัวลดลง 17% อยู่ที่ระดับ 125.00

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY)

หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดเหล็ก (STEEL)

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าของเงินทุน

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่



โดยผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม 2564 SET index มีความผันผวน อยู่ระหว่าง 1,468.24-1,547.31 จากการเทขายหุ้นที่มี free float ต่ำ โดยหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบมากที่สุด ช่วงครึ่งเดือนหลังดัชนีปรับตัวในกรอบแคบโดยมีข่าวดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านโครงการ “เราชนะ” ที่ออกมาช่วยเสริมสภาพคล่องด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และการประกาศผ่อนคลายพื้นที่ควบคุม แต่ดัชนีได้รับผลกระทบจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่อาจเกิดจากการปรับฐานการ ลงทุนซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ โดย ณ สิ้นเดือนมกราคมSET Index ปิดที่ 1,466.98 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.22% จาก เดือนก่อนหน้า

นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการคลี่คลายสถานการณ์ COVID-19 โดยมีข่าวดีเรื่องวัคซีนที่ทยอยออกมา และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ รองลงมาคือสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

นักลงทุนสนใจลงทุนในพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) และหมวดพาณิชย์ (COMM) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเหล็ก (STEEL) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT)

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ โอกาสการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลกจากการแจกจ่ายวัคซีน การทบทวนข้อตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน และการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐอเมริกา ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศงบการเงินบริษัทจดทะเบียน ผลการประชุมรัฐสภาใน ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระสองที่อาจส่งผลต่อสถานการณ์การเมือง จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ใหม่รายวันที่ยังเพิ่มสูงอยู่และแผนการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ รวมถึงติดตามความเป็นไปได้ในการพิจารณาต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่าง ๆ ของภาครัฐ

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดย ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์นี้อยู่ที่ระดับ 39 ลดลงจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแล้ว และ มาตรการการคลังที่ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจะลดความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ทั้งนี้หากสถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มแย่ลง ธปท. อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 1 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งก่อน สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 0.70% และ 1.29% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (22 ม.ค. 64) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ Fund Flow ต่างชาติ และ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment