{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ราคา Bitcoin ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 41,962 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 1.2 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นราคาก็เริ่มร่วงอย่างรวดเร็ว โดย มูลค่าตลาดของ Cryptocurrencies สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย Bitcoin ประมาณ 70% รองมาคือ Ethereum อยู่ที่ 13% และ Tether อยู่ที่ 3% โดยในช่วงที่ราคา Bitcoin ขึ้นไปสูงมาก เคยแซงหน้ามูลค่าตลาดของสกุลเงินบาทไทยอยู่ช่วงหนึ่ง
ทั้งนี้ Bitcoin เกิดมาตั้งแต่ปี 2009 แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสนใจมาก จนกระทั่งราคาพุ่งสูงนับ 20 เท่า เมื่อปี 2017 (จากประมาณ 1,000 เป็น 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หันมาหาคำตอบของปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา Bitcoin โดยเป็นการหาความสัมพันธ์ของสกุลเงินดิจิทัลกับสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ โลหะมีค่า รวมไปถึงสกุลเงินทั่วโลก ส่วนใหญ่พบว่าราคา Bitcoin ไม่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ใด ๆ เลย อีกทั้งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากราคาหุ้นที่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทหรือวัฏจักรทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่หลายงานวิจัยค้นพบตรงกันคือ ราคา Bitcoin วิ่งตาม Sentiment ในข่าวหรือสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter Reddit ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถจับกระแสเหล่านี้และนำมาวิเคราะห์ หากช่วงนั้นมีคำที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin ในเชิงบวก เช่น good, rise, profitable ราคา Bitcoin จะวิ่งขึ้นต่อ รวมทั้งสกุลเงินดิจิทัลตัวหลักอื่น ๆ ค่อนข้างวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าแต่ละสกุลเงินดิจิทัลอาจถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีและวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน
ลักษณะเช่นนี้ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายได้ว่าเป็นการแห่เข้าไปซื้อ (Herding Behavior) ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะขาขึ้นเพียงอย่างเดียว อาจเกิดการวิ่งแห่ซื้อตามกันหรือตระหนกตกใจเทขายพร้อมกันก็เป็นได้ โดย Herding Behavior นี้ได้ส่งผลไปยังสกุลเงินดิจิทัลอื่นด้วย หากดูราคา Ethereum, Stellar, Litecoin สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้เคยมีประวัติวิ่งขึ้นในช่วงปลายปี 2017 พร้อม Bitcoin และร่วงลงมาพร้อมกันในปี 2018 ดังนั้น การเข้าไปซื้อ Cryptocurrencies จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง และไม่แนะนำสำหรับการลงทุนระยะยาว เพราะมีความผันผวนสูง ผู้ซื้อควรตระหนักว่าเงินที่ลงทุนอาจสูญไปทั้งหมดได้ในพริบตา ส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาแทบจะไม่มีปัจจัยพื้นฐาน สำหรับตอนนี้ หากต้องคาดการณ์ราคาในอนาคตผลลัพธ์จะคล้ายกับการพนันมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วรประภา มองว่า แท้จริงแล้ว Cryptocurrencies บางตัว อาจจะมีราคาที่เหมาะสมได้ เช่น Ethereum ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวางรากฐานให้กับเทคโนโลยี Smart Contract และ เทคโนโลยี Ethereum Blockchain ก็เป็นรากฐานให้เกิด Initial Coin Offering (ICO) บางตัวขึ้นมา ดังนั้นหากตลาดมองว่าเทคโนโลยี Ethereum Blockchain มีประโยชน์ เหรียญ Ethereum ก็อาจมีราคาที่เหมาะสมได้ตามคุณค่าที่แท้จริงของมัน นอกจากนี้ เหรียญ ICO ที่ออกโดยบริษัทที่มีพื้นฐานดี ก็ควรจะมีราคาของเหรียญที่สะท้อนมูลค่าของบริษัทนั้น เทคโนโลยี Blockchain ยังเป็นสิ่งที่น่าจับตาดู เพราะน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อีกในอนาคต
ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้นำเทคโนโลยี Blockchain นี้มาพัฒนาโครงการอินทนนท์ สร้างสกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินแทนที่จะโอนด้วยเงินบาทจริง เรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) เทคโนโลยีทางการเงินแห่งอนาคตเหล่านี้กำลังมีบทบาทมากขึ้นและมีข้อดีมหาศาลที่จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส สะดวกรวดเร็ว
ปัจจุบันความรู้ด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีต่อระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มเปิดสอนวิชา เศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital and Innovative Economy) ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เพื่อผสมผสานศาสตร์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มาประยุกต์ใช้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ หัวข้อที่มีการเรียนการสอน นอกจากเรื่องของเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrencies แล้ว ยังมีหัวข้ออื่นที่น่าสนใจ เช่น Artificial Intelligence (AI), Platform Economy, Internet-of-Things (IoT) เป็นต้น
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS