นาโนเทค สวทช. จับมือยูนิซิลต่อยอดนวัตกรรมซิงก์ไอออนสู่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ สู้วิกฤตไวรัส

นายธนากร ตั้งเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เบนไซออน (Benzion) เปิดเผยว่า บริษัทได้ต่อยอดเทคโนโลยีที่รับถ่ายทอดมาจากงานวิจัยของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มาพัฒนาเป็นเบนไซออน (Benzion) เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นสารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากซิงค์ไอออน เนื่องจากบริษัทเองสนใจในกลุ่มแร่ธาตุอาหารเสริมที่สามารถฆ่าเชื้อได้ เพราะในท้องตลาดปัจจุบัน สารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ในราคาที่สูง หรือหากมีแร่ธาตุสูง ก็มีความเป็นพิษสูงตามไปด้วย หรือหากความเป็นพิษต่ำ ประสิทธิภาพก็ไม่สูงเท่าที่ต้องการ หรืออาจไม่ครอบคลุมเชื้อทั้งหมด จนได้ทราบว่า ทางนาโนเทคมีงานวิจัยทางด้านนี้ จึงเข้ามาพูดคุยปรึกษา จนเกิดเป็นโครงการวิจัยข้างต้น ในปี 2561

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความต้องการใช้ฆ่าเชื้อภายในโรงงาน ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร ลอจิสติกส์ โรงแรม สถานพยาบาล หน่วยงานราชการต่างๆ และภาคประชาชนที่ใช้ในที่พักอาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้องการให้สามารถเข้าถึงและใช้งานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนี้ได้อย่างแพร่หลายในราคาที่เอื้อมถึง ตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพ อนามัย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 50 ล้านบาทภายในปี 2563

ปัจจุบัน นายธนากรเผยว่า เบนไซออนเป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ ภายใต้การกำกับดูแลสถานที่ผลิตโดยกองเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) โดยเป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มีสารสกัดจากธรรมชาติที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงและครอบคลุมเชื้อได้อย่างกว้างขวาง สามารถยับยั้งและทำลายเชื้อ เช่น เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ Escherichia coli ATCC 10536, Salmonella enterica (choleraesuis) ATCC 10708, Staphylococcus aureus ATCC 6538 และ Pseudomonas aeruginosa PRD 10 ATCC 15442 ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.วรายุทธ สะโจมแสง นักวิจัยจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการวิจัย “การพัฒนากระบวนการผลิตซิงค์ไอออนสำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย” ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการแผนบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยนำแร่ธาตุอาหารเสริมอย่างซิงก์ (Zinc) ที่โดยปกติมีสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ แต่ประสิทธิภาพนั้นไม่ดีนัก มาเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการเติมสารคีเลตและสารเสริมความคงตัว เช่น พอลิแซคคาร์ไรด์ กรดอะมิโน กรดไขมัน กรดอินทรีย์และสารลดแรงตึงผิว เป็นการเสริมประสิทธิภาพให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว และใช้ได้ในปริมาณที่น้อยลง สู่ผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนยาปฏิชีวนะ ทดสอบใช้ในฟาร์มหมูได้ผลดี ที่ยูนิซิล กรุ๊ป รับถ่ายทอดเทคโนโลยีและต่อยอดเชิงพาณิชย์ เปิดตลาดอุตสาหกรรมปศุสัตว์

นวัตกรรมซิงค์ไอออนสามารถแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้ อาทิ เชื้อไวรัสอหิวาต์สุกรอัฟริกัน (African swine fever virus, ASFV) และโรคพีอีดี (porcine epidemic diarrhea, PED) ที่นวัตกรรมนี้ตอบโจทย์ โดยสามารถนำไปฆ่าและป้องกันเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกรอัฟริกันได้ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม 74,600 ล้านบาทในปี 2562 หากไม่มีการป้องกันเชื้อดังกล่าว จะทำให้สุกรเสียชีวิตมากกว่า 50% และยังสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่างมหาศาล

ด้วยจุดแข็งด้านนาโนเทคโนโลยี ทำให้กรรมการผู้จัดการยูนิซิล กรุ๊ป มองว่า ซิงค์ไอออนจากธรรมชาติมีโอกาสทางการตลาดสูง จึงมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มากกว่าแค่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ จึงเริ่มต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ “เบนไซออน (Benzion)” ซึ่งเป็นสารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากซิงค์ไอออนร่วมกับสารลดแรงตึงผิวที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมหรืออีพีเอ (U.S. Environmental Protection Agency: EPA) แนะนำว่า เป็นสารที่สามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม



เบนไซออน (Benzion) ใช้ไอออนิกเทคโนโลยีและคีเลชันเทคโนโลยี ทำให้มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ด้วยประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัสที่อยู่ระดับสูง โดยผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ*พบว่า สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ภายใน 1 นาที เทียบเท่าผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาที่เข้าถึงได้ เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ที่ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อระดับกลาง ที่สำคัญคือ ไม่มีกลิ่น และไม่ติดไฟ

นอกจากนี้ เบนไซออน ผ่านการทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง จากสถาบัน Aisa Dermscan โดยทดสอบกับอาสาสมัคร รวมถึงทดสอบด้าน Toxicology and Bio Evaluation Service Center (TBES) ศูนย์บริการทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา สวทช. พบว่า มีความปลอดภัยไม่ระคายเคือง ขณะที่แอลกอฮอล์ 70% ก่อให้เกิดการระคายเคือง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment