“สงกรานต์” ก้าวย่าง (อย่างร้อนๆ) ไปพร้อมกัน

“สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ก้าวย่าง”  

ในวัฒนธรรมอินเดีย หมายถึง การเปลี่ยนผ่านเวลาในรอบปี จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง

ในการเปลี่ยนผ่านจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ มีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" หมายถึง การก้าวครั้งใหญ่ นับเป็นครั้งสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์

“สงกรานต์” ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของหลายประเทศเขตร้อน ที่ไม่ได้มีแค่ที่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่มีทั้งที่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา ชาวพุทธที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ของจีน และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย

ประเพณีสงกรานต์ เริ่มมาจากวัฒนธรรมของอินเดีย ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือราวเดือนมีนาคมของทุกปี จะมี “เทศกาลโฮลิ” (Holi Festival) ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู จะนำผงสีมาสาดใส่กัน เพราะเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากร่างกาย

ที่ประเทศกัมพูชา “สงกรานต์” ถูกบันทึกไว้ว่ามีมาตั้งแต่ พ.ศ. 1600 ราชสำนักกัมพูชายุคแรกที่นับถือศาสนาพราหมณ์ จึงได้รับเอาประเพณีสงกรานต์มาจากอินเดีย

ที่กัมพูชา เรียกวันสงกรานต์ว่า โจล ชนัม ทะเมย (Choul Chnam Thmey) แปลว่า เข้า ปี เขมร หรือขึ้นปีใหม่เขมร จะมีการจัดงานในวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี

วันแรกถือเป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันปีใหม่ คนกัมพูชาจะออกไปตักบาตร ทำบุญไหว้พระ และขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อเจดีย์

วันที่สอง ถือเป็นวันครอบครัว จะมีการให้เงินหรือซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้กันเป็นของขวัญ และช่วงหัวค่ำก็จะช่วยกันก่อเจดีย์ทราย

วันที่สาม จะจัดงานรื่นเริง รำวง และการละเล่นต่างๆ พร้อมทั้งสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล

เทศกาล “กุดสงกรานต์” หรืองานประเพณีปีใหม่ลาว ถือเป็นเทศกาลสำคัญประจำปี และเป็นวันหยุดของ สปป.ลาว ตรงกับวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี

ที่นครเวียงจันทร์ ชาว สปป.ลาว จะออกมาสรงน้ำพระ เล่นสงกรานต์ และดูขบวนแห่นางสังขารหรือนางสงกรานต์กันอย่างคึกคัก

เมืองหลวงพระบาง อีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะจัดงานทั้งหมด 4 วัน

วันแรก เรียกว่า “วันสังขารล่วง” ชาวหลวงพระบางจะทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดสิ่งไม่ดีในปีที่ผ่านมาออกไปเพื่อเตรียมรับสิ่งดีๆเข้ามา

ในช่วงเย็นจะมีการลอยกระทง เพื่ออธิษฐานให้ทุกข์โศกโรคภัยลอยไปกับกระทง

วันที่สอง เรียกว่า “วันเนา” จะมีขบวนแห่หุ่นเชิดปู่เยอ- ย่าเยอ และสิงห์แก้ว สิงห์คำ เทวดาที่ชาวหลวงพระบางนับถือไปรอบเมือง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมขบวนก็จะฟ้อนรำเพื่ออวยพรให้ลูกหลาน

วันที่สาม ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เรียกว่า “วันสังขารขึ้น” จะมีประเพณีตักบาตรพูสี ชาวหลวงพระบางจะพากันเดินขึ้นพูสี ภูเขาสูงกลางเมืองหลวงพระบาง เพื่อนำข้าวเหนียวนึ่งและขนมลูกกวาด ไปวางไว้ตามหัวเสาบันไดระหว่างทางขึ้นไปองค์พระธาตุ และโยนข้าวเหนียวลงป่าข้างองค์พระธาตุเพื่อเป็นการให้ทาน ในช่วงบ่ายจะมีขบวนแห่นางสังขารหรือนางสงกรานต์

วันที่สี่ จะมีการอัญเชิญพระบาง พระพุทธรูปคู่เมืองหลวงพระบาง ออกมาให้ชาวเมืองได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน จากนั้นจึงจะอัญเชิญกลับไปประดิษฐานที่หอพิพิธภัณฑ์ตามเดิม

ประเพณีติงจัน Thingyan ที่คนเมียนมาพูดว่า “ตะจัน” คือเทศกาลน้ำหรือสงกรานต์ ซึ่งที่เมียนมาจะจัดขึ้นในเดือนหนึ่ง หรือดะกูละ ตรงกับช่วงวันที่ 12-16 เมษายนของทุกปี

เมืองใหญ่ๆ อย่างย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ จะมีการจัดคอนเสิร์ตกันตามท้องถนน ทุกเวทีจะมีสายยางฉีดน้ำใส่ผู้ชมด้านล่างได้ร่วมสนุกสนาน ร้องเต้น เล่นสาดน้ำจนเปียกชุ่มกันอย่างเต็มที่

ส่วนราชการต่างๆ ก็จะจัดพื้นที่ให้ประชาชนมาเล่นน้ำและดูการแสดง โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยฉีดน้ำไปยังผู้คนที่ผ่านไปมา

ถึงแม้จะเล่นน้ำสนุกสนานกันเต็มที่ แต่คนเมียนมาเขามีข้อยกเว้นที่จะไม่สาดน้ำพระสงฆ์ ชี โยคี ผู้ถืออุโบสถศีล และผู้หญิงตั้งครรภ์

หลังจากเล่นสาดน้ำกันเต็มที่ตลอด 5 วัน พอถึงวันที่ 17 เมษายน ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวเมียนมาทุกเพศทุกวัยจะรักษาศีล แต่งกายเรียบร้อยสวยงาม ขึ้นไปสักการะเจดีย์สำคัญๆของแต่ละเมือง พร้อมกับสรงน้ำพระประจำวันเกิด รดน้ำดำหัวพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครูอาจารย์ รวมถึงสระผมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยน้ำส้มป่อย

อาหารพิเศษประจำเทศกาลสงกรานต์หรือตะจันของเมียนมา มีสองอย่าง อย่างแรกคือ หมงหลงเหย่โป่ง (Mont Lone Yay Paw) ทำจากแป้งข้าวเจ้า ห่อไส้น้ำตาลมะพร้าว ปั้นเป็นก้อนกลม นำไปต้มจนสุก โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด ลักษณะคล้ายขนมต้มของไทย เป็นขนมที่หมายถึงความสามัคคี เพราะต้องช่วยกันทำหลายๆคน

อีกอย่างเรียกว่า ตะจันทะมี้น (Thingyan Rice) หรือข้าวสวยที่แช่ในน้ำอบควันเทียนหอม รับประทานเคียงกับปลาช่อนแห้งผัดกับหอมเจียว และยำมะม่วงดอง เหมาะกับอากาศร้อนๆในช่วงวันสงกรานต์เป็นอย่างดี คล้ายกับข้าวแช่หอมเย็นชื่นใจของบ้านเรานั่นเอง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment