วันประกาศเลิกทาส

1 เมษายน นอกจากจะเป็นวันเอพริลฟูลเดย์ (April Fools’ Day) หรือวันโกหกของชาวตะวันตกแล้ว วันนี้ยังเป็นวันประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการตามพระราชกรณียกิจอันสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

ย้อนไปในอดีต รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 3 เมืองไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส จะต้องตกเป็นทาสด้วยเช่นกัน หากต้องการเป็นไทต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง ไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต ซึ่งเรียกกันว่า “ทาสในเรือนเบี้ย”

ทาส คือใคร

นอกจากพระองค์จะทรงเลิกทาสแล้ว ยังทรงทำการยกเลิกระบบไพร่ไปด้วยพร้อมๆกัน แต่การปฏิรูปการปกครองในครั้งนั้น ทรงทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้บรรดาเจ้าขุนมูลนายลุกขึ้นมาต่อต้าน อีกด้านหนึ่งก็เป็นการลดทอนอำนาจพวกขุนนาง และดึงกำลังคนให้มาอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์เพียงองค์เดียวด้วย เนื่องจากกำลังไพร่และทาสนั้นบ่งบอกถึงอำนาจของผู้นั้น           หากมีไพร่และทาสจำนวนมาก อำนาจก็ยิ่งมากตามไปด้วยนั่นเอง

ไพร่ คือใคร

ไพร่ มีอิสระในการประกอบอาชีพ สร้างบ้านเรือน และต้องสังกัดมูลนาย สามารถย้ายสังกัดได้หรือหากเห็นมูลนายกดขี่ สามารถไปขอขึ้นทะเบียนสังกัดมูลนายใหม่ได้ ไพร่จะได้รับการขึ้นทะเบียนสังกัดเมื่ออายุ 9 ปี จากนั้นจะถูกนำไปสักหมายหมู่หรือสักเลก (เลข) เมื่อมีร่างกายสูงใหญ่พอที่จะสักได้แล้ว (ความสูงจากเท้าถึงไหล่ไม่ต่ำกว่า 2 ศอกคืบ) ซึ่งการสักเลกส่วนใหญ่จะสักที่ข้อมือ หลังมือหรือท้องแขน

ทั้งนี้ทั้งนั้น บางกรมกองที่เป็นกรมพิเศษจะสักเลกไว้ที่บริเวณอื่น เพื่อบ่งบอกถึงความพิเศษของกรมที่แตกต่างไปจากกรมอื่นๆ นั่นเอง จากนั้นไพร่จะถูกเกณฑ์ราชการไปจนกว่าอายุจะถึง 70 ปี ถึงจะปลดได้ ยกเว้นเสียชีวิต พิการ บวชเป็นพระ หรือมีลูกมารับการสักเลกแล้ว 3 คน

ไพร่เหล่านี้จะต้องเข้าเกณฑ์ราชการ ทำงานให้กับหลวงหรือมูลนายโดยไม่ได้รับค่าแรง และไม่มีสิทธิ์ในผลผลิตนั้นๆ แถมต้องออกค่าใช้จ่ายค่าอาหารการกินในระหว่างทำงานให้หลวงหรือมูลนาย และต้องเสียภาษี หากมีสงครามหรือเกิดการแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นการปกครอง ไพร่ก็จะต้องไปเป็นทหารหรือเป็นกำลังไพร่พลให้กับมูลนายของตน ซึ่งสิ่งตอบแทนที่ไพร่ได้รับคือการที่มูลนายให้ความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และสามารถยืมเงินได้โดยไม่คิดดอกเบี้ย

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศเลิกทาสและยกเลิกระบบไพร่

เนื่องจากไพร่ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญในระบบราชการสมัยนั้นมีปริมาณน้อยลง ประกอบกับภายหลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring Treaty) สนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับ สหราชอาณาจักร เมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (สมัยรัชกาลที่ 4) เพื่อเปิดการค้าเสรีกับต่างชาติและยกเลิกระบบการค้าผูกขาด ทำให้เมืองสยามที่เคยทำเกษตรเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ ต้องหันมาทำเกษตรเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกข้าวได้มากขึ้น การค้าขายก็เริ่มคึกคัก รายได้ในการขายแรงงานในขณะนั้นก็สูงตามไปด้วย ทำให้ชาวจีนอพยพเข้าสู่สยามมาขายแรงงานเป็นจำนวนมาก บรรดาเจ้านายก็เลือกที่จะจ้างแรงงานจีนเพราะขยันขันแข็ง ต่างจากแรงงานไพร่ที่ทำงานไม่เต็มที่เพราะไม่มีรายได้เป็นสิ่งจูงใจ

รวมถึงการกดดันจากชาติตะวันตกเรื่องสิทธิเสรีของไพร่ ซึ่งควรมีสิทธิในการได้ค่าแรงตอบแทนจากการทำงาน ประกอบกับการขาดแคลนกำลังทหาร เนื่องจากไพร่หนีเข้าป่า บ้างก็ไปบวชเป็นพระ บางคนเลือกขายตัวเป็นทาส เพราะการเป็นทาสนั้นสบาย มีที่อยู่ที่กิน ได้รับการดูแลจากเจ้านายไม่ต้องไปทำงานแบกหามเหมือนไพร่ และไม่ต้องส่งส่วยเสียภาษีด้วย

เมื่อไม่มีไพร่ ก็ไม่มีแรงงาน ในเมืองเหลือแต่ทาสที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ มีแต่จะสิ้นเปลืองทรัพยากร (ทาสรับใช้นายเงินอย่างเดียว ไม่ได้ขึ้นต่อกษัตริย์) เมื่อทาสไร้ประโยชน์ก็ต้องเลิกทาส เมื่อไพร่ไม่มี ก็ต้องใช้แรงจูงใจในการดึงไพร่กลับเข้ามาในเมือง

ขั้นตอนการยกเลิกระบบไพร่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มปฏิรูประบบการบริหารราชการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในปี 2413 พระองค์ทรงตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์โดยรับไพร่จากมูลนายที่เสียชีวิตมาเป็นทหารในสังกัด พร้อมกับรับสมัครบรรดาไพร่ที่ไม่ได้สักเลกเข้ามาเป็นทหาร โดยพระราชทานเงินให้คนละ 4 บาท ผ้า 1 สำรับเพื่อเป็นสินน้ำใจ ซึ่งมีไพร่เข้ามาสมัครเป็นทหารจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าบรรดามูลนายต่างเก็บไพร่ไว้ใช้ส่วนตัวกันมาก

ต่อมาในปี 2431 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติทหาร กำหนดหน้าที่ของพลทหารเรือและทหารบก พร้อมกำหนดอัตราเงินเดือนๆ ละ 2 บาทและเบี้ยหวัดรายปี ทหารที่รับราชการครบ 10 ปีจึงจะเกษียณอายุได้ หากรับราชการต่อจะเพิ่มเบี้ยหวัดให้จากเงินเดือนเป็นรายปี ไพร่หลวงที่ไม่มาเข้าเกณฑ์ราชการต้องเสียเงินแทนค่าแรง ส่วนไพร่ส่วยถ้าไม่ส่งของต้องส่งเงินแทน 6-12 บาท ต่อมา ได้ลดค่าราชการให้ไพร่หลวง จากเดิมที่เคยเสียปีละ 6 บาทขึ้นไปให้เก็บแค่ปีละ 6 บาทเท่านั้น

หลังจากนั้น ได้ออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์จ้าง โดยให้จ่ายค่าจ้างแก่ราษฎรที่มาช่วยงานราชการ ตามด้วยการออกพระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญแทนการพระราชทานไพร่สมให้ เพื่อเป็นการลดทอนอำนาจของขุนนาง

ระบบไพร่สิ้นสุดลง เมื่อพระองค์ทรงกำหนดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหารรัตนโกสินทร์ศก 124 ในปี 2448 โดยให้ชายฉกรรจ์ทุกคน (ยกเว้นคนจีนและคนป่า) ที่มีอายุ 18 ปีเข้ารับราชการในกองประจำการ มีกำหนด 2 ปี แล้วปลดไปเป็นกองหนุน ผู้ที่ได้รับราชการทหารในกองประจำการแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นั้นพ้นจากการเสียเงินค่าราชการใดๆ ตลอดชีวิต

การประกาศเลิกทาส ร.ศ. 124

ส่วนการเลิกทาสนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ออกพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2417 สั่งให้ลดค่าตัวทาสตั้งแต่อายุ 8 ขวบและหมดค่าตัวเมื่ออายุ 20 ปี และจะเป็นอิสระเมื่ออายุ 21 ปี มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี 2411 และห้ามไม่ให้ซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีกลับมาเป็นทาสอีก ส่งผลให้ทาสส่วนหนึ่งสามารถหาเงินมาไถ่ตนได้

กระทั่งปี 2448 ทรงออกพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่      1 เมษายน ส่วนทาสประเภทอื่นที่ไม่ใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาทและห้ามขายตัวกลับมาเป็นทาสอีก

นอกจากนี้ยังให้ทุกคนเปลี่ยนจากการตีทะเบียนทาสมาเป็นทะเบียนราษฎร ทุกคนขึ้นตรงต่อกษัตริย์ ไพร่ที่ไม่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์ก็กลายมาเป็นทหารเกณฑ์ที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือเป็นการเริ่มต้นระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ด้วยนั่นเอง

ช่วงเวลาการเลิกทาสของชาติตะวันตก

ข้อมูลอ้างอิง: https://www.reuters.com/article/uk-slavery/chronology-who-banned-slavery-when-idUSL1561464920070322


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment