ธนารักษ์มอบเอกสารสิทธิที่ราชพัสดุขอนแก่น 1,100 แปลง เดินหน้า“ธนารักษ์ประชารัฐ”

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ มอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ขก.252 ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ตามนโยบายรัฐบาลเรื่องลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ด้านที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ภายใต้โครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” พร้อมทั้งมีการจัดตลาดตามโครงการ "เปลี่ยนชุมชนเป็นห้องประชุม" หลังจากนั้นอธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่พบผู้ได้รับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ ณ นิคมโนนสมบูรณ์ ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น

นายสันติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้มอบสัญญาเช่าที่ดินตามโครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” โดยได้นำที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ขก.252 มาจัดสรรให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น จำนวน 1,100 ราย จากเดิมที่ประชาชนเข้าครอบครองที่ราชพัสดุโดยมิชอบให้เป็นผู้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันกรมธนารักษ์ มีที่ดินที่ใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานราชการ และพื้นที่ที่ยังไม่ใช้ประโยชน์มากกว่า 12 ล้านไร่ โดยได้ดำเนินการสำรวจและจัดสรรให้กับประชาชนเช่าราคาถูก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่เป็นส่วนของที่ดินทำกินในรูปของที่ดินเพื่อการเกษตร และที่อยู่อาศัย ตลอดจน ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ อีกทั้งยังสามารถตกทอดถึงลูกหลานในอนาคต

ขณะนี้ กรมธนารักษ์ได้ทำการสำรวจที่ดินไปแล้วกว่า 6 โครงการ และจัดสรรที่ดินเพื่อให้ประชาชนเข้าถือครองในรูปแบบของสัญญาเช่าราคาถูกแล้วกว่า 10,000 แปลง ซึ่งจะได้ดำเนินการมอบเอกสารสิทธิดังกล่าวในลำดับต่อไป โดยวันนี้ที่ดินแปลงหมายเลข ขก.252 เป็นที่ดินได้รับการส่งมอบคืนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เคยใช้เป็นนิคมโรคเรื้อนโนนสมบูรณ์ได้มีการยกเลิกเป็นสถานบำบัด และรักษาโรคดังกล่าวแล้ว จึงเป็นที่รกร้างไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ กรมธนารักษ์จึงได้เข้าไปจัดสรรที่ดินเพื่อให้เกิดมูลค่าและสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินเป็นของตนเอง ซึ่งผู้ป่วยที่เคยอยู่ในนิคมดังกล่าวและมีทายาทจะสามารถได้รับสิทธิในการเช่าพื้นที่ราชพัสดุเพื่อที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ทำกินด้านการเกษตร โดยจะได้รับอัตราค่าเช่าตามระเงื่อนไงของ กรมธนารักษ์ อีกด้วย

สำหรับอัตราค่าเช่าที่ดินราชพัสดุ แบ่งเป็นอัตราค่าเช่าเพื่อประกอบการเกษตร โดยผู้ป่วยจะคิดค่าเช่าไร่ละ 100 บาทต่อปี ทายาทผู้ป่วย คิดค่าเช่าไร่ละ 200 บาทต่อปี สำหรับบุคคลอื่น ค่าเช่าไร่ละ 200 บาทต่อปี ส่วนอัตราค่าเช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ป่วยคิดอัตรา ตารางวา (ตร.ว.) ละ 0.13 บาทต่อเดือน สำหรับทายาท คิดอัตราตารางวา (ตร.ว.) ละ 0.25 บาทต่อเดือน สำหรับบุคคลอื่น คิดอัตราตารางวา (ตร.ว.) ละ 0.50 บาทต่อเดือน เมื่อประชาชนได้รับมอบสัญญาเช่าแล้ว สามารถใช้สิทธิการเช่าไปใช้ประกอบในการขอสินเชื่อ หรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นสถาบันการเงินที่ร่วมกับภาครัฐภายใต้โครงการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นเงินทุน เพื่อประกอบอาชีพหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยต่อไปได้/สำหรับในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลได้มีนโยบายยกเว้นการเก็บค่าเช่าอีก 1 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด -19

โดยกรมธนารักษ์มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุจากกรณีดังกล่าวภายใต้โครงการ “ธนารักษ์ประชารัฐ” เพื่อรองรับสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองที่ราชพัสดุให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 73,427 ราย เนื้อที่ประมาณ 1.051 ล้านไร่ โดยขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเครื่องมือในการรังวัดพื้นที่ และการตรวจสอบสิทธิ์ก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันสามารถพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินต่อแปลงให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1-2 เดือน จากเดิมใช้เวลา 1-2 ปี

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้เข้าไปมอบเอกสารสิทธิ์ที่ราชพัสดุให้กับชาวบ้านไปแล้วใน 6 จังหวัด และในวันที่ 11 กันยายนนี้ จะจัดพิธีมอบมอบเอกสารสิทธิที่ราชพัสดุ ให้กับชาวบ้านในจังหวัดนครสวรรค์ อีกประมาณ 2,000 ราย ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่สอง ที่จัดพิธีมอบให้กับชาวบ้าน เพราะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในการทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย




COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment