ชำแหละยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ตอนที่ 1)

ประเทศไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์?

ห้าหกปีที่แล้ว เมื่อผมเริ่มบอกกับผู้คนทั่วประเทศว่าประเทศเราไม่มียุทธศาสตร์ หลายคนไม่เชื่อ และอีกหลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้

จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2558 เมื่อเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสมัยนั้น ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “...ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นเรื่องใหม่ในกลไกบริหารประเทศ....” จึงเป็นที่ชัดเจนว่า “ประเทศไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์”

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ไม่ใช่ “ยุทธศาสตร์” หรือ?

มีคำถามต่อว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ที่ประเทศไทยมีมาแล้ว 12 ฉบับ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หรืออย่างไร? คำตอบคือ “ไม่ใช่ยุทธศาสตร์” แต่เป็นแค่ “แนวทาง” ให้รัฐบาลทั้งหลายเลือกและก็ไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องทำตามแผนฯ

ดังนั้น ใครเข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือปฏิวัติ ก็สามารถจะพาประเทศไปทางซ้ายทางขวาได้ตามอัธยาศัย ทุกรัฐบาลล้วนแต่เคยอ้างว่านโยบายรัฐบาลสอดคล้องกับแผนฯของสภาพัฒน์ฯ

ไม่มียุทธศาสตร์แล้วทำไมประเทศไทยถึงได้เจริญกว่าเพื่อนบ้าน?

30 ปีที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านเรายังไม่สงบ ยังมีสงคราม ไทยเป็นประเทศเดียวที่สงบสุขปราศจากสงคราม ธุรกิจระดับโลกจึงเลือกมาลงทุนในเมืองไทยกันจนไทยเรา “โชติช่วงชัชวาลย์”

ต่อมา เมื่อประเทศเพื่อนบ้านสงบ พวกเขาตั้งหลักกันได้และเริ่มเขียนยุทธศาสตร์กัน สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ล่าสุดมีนักวิเคราะห์ระดับโลกหลายสถาบันคาดการณ์ตรงกันว่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จะแซงไทยในอีกไม่กี่ปี และเวียดนามจะแซงไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า

จุดเริ่มต้นยุทธศาสตร์ในประเทศไทย

หลังจากรู้ตัวแล้วว่า “ไทยไร้ยุทธศาสตร์” เราก็เริ่มตั้งคณะกรรมการมาร่างยุทธศาสตร์ และสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ไทยก็มีเอกสารปึกหนึ่งที่รัฐบาลเรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580)กันอย่างเป็นทางการ

“วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ใช่แล้วหรือ?

ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วิสัยทัศน์ประเทศไทยคือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หรือสรุปสั้นๆ เป็นคติพจน์ประจำชาติว่า “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน”

ความมั่นคง หมายถึง การมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ สังคม ชุมชน ครัวเรือนและปัจเจกบุคคล และมีความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติทางการทหาร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง....”

ความมั่งคั่ง หมายถึง ประเทศไทยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน จนเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาลดลง ประชากรมีความอยู่ดีมีสุข ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น และมีการพัฒนาอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน มีคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ ไม่มีประชาชนที่อยู่ในภาวะความยากจน เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน ต้องมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั้งในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ....”

ความยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญ รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่บนหลักของการใช้การรักษาและการฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินพอดี ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม....”

แค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว!!!

วิสัยทัศน์ประเทศไทยที่เขียนไว้ยาวๆ อย่างนั้น ทุกประเทศในโลกล้วนอยากเป็นเหมือนกับไทยเรา แต่เขาไม่ต้องมาเขียนในยุทธศาสตร์ประเทศ แต่ที่ประเทศอื่นๆ มีในยุทธศาสตร์ไม่เหมือนเรา ก็คือเขามี “ตำแหน่งประเทศที่สั้นกระชับชัดเจน สะท้อนความเก่งกว่า และความได้เปรียบกว่าซึ่งมีเหนือกว่าประเทศอื่นๆ” ส่วนไทยไม่มี

ในยุทธศาสตร์ชาตินั้น “ตำแหน่งประเทศ” ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์โลกในอนาคตว่าจะเป็นเช่นไร และการวิเคราะห์ SWOT จุดอ่อนจุดแข็งโอกาสและความท้าทายของประเทศนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เช่นนั้น เราก็จะไม่รู้ว่าจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร

ถ้าการพัฒนาประเทศเป็นเหมือนการเดินทาง ตำแหน่งประเทศก็คือจุดหมายปลายทางนั่นเอง ว่าเราจะเดินทางไปเหนือหรือไปใต้ คนที่จะร่วมเดินทางซึ่งหมายถึงคนทั้งประเทศจะได้รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวจัดกระเป๋าเสื้อผ้ากันอย่างไร

ถ้าตำแหน่งประเทศไม่ชัดเจนเหมือนวิสัยทัศน์ประเทศไทย ก็เหมือนเราชวนเพื่อนไปเที่ยว แต่ไม่ยอมบอกว่าจะพาไปเที่ยวที่ไหน เพื่อนย่อมจะเตรียมตัวไม่ถูก

ตำแหน่งประเทศไม่ชัดเจนส่งผลร้ายอย่างไร?

เมื่อไทยเราไม่มีตำแหน่งประเทศที่สั้นกระชับชัดเจน ทำให้หน่วยราชการต่างๆ สามารถ “เลือก” ทำงานที่พวกเขาอยากทำได้ตามอำเภอใจ การทำงานของหน่วยราชการจึงเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ แต่ใครอะไรก็ทำถูกต้องตาม วิสัยทัศน์ประเทศหมด ลองคิดดูว่างานไหนของหน่วยราชการใดที่จะไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศ “มั่นคง มั่งคั่งและ ยั่งยืน” บ้าง

เมื่อหน่วยงานไหนอยากทำอะไร จึงสามารถเขียนของบประมาณได้หมด ผลที่ตามมาก็คืองบประมาณของประเทศซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด จึงถูกใช้กันแบบ “เบี้ยหัวแตก” ไร้ประสิทธิภาพ ต่างจากประเทศที่มีตำแหน่งประเทศชัดเจน การจัดสรร งบประมาณก็จะทำได้ชัดเจน สามารถเรียงลำดับกันตามความสำคัญ หน่วยงานไหนที่มีหน้าที่ตามตำแหน่งประเทศก็จะได้รับ การจัดสรรงบประมาณมากกว่าและได้ก่อน มีการทำงานแบบบูรณาการกัน

ประเทศไทยนอกจากจะใช้งบประมาณแบบ “เบี้ยหัวแตก” แล้วยังไม่พอ ยังถูกซ้ำเติมด้วย “การคอร์รัปชัน” เสียอีก เม็ดเงินที่มีอยู่อย่างน้อยนิดอยู่แล้ว จึงใช้ได้จริงน้อยลงไปอีก “เบี้ยหัวแตก” จึงกลายเป็น “เบี้ยหัวแบะ” แย่ลงไปอีก

ตอนนี้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น?

ในอดีตที่ไทยเราไร้ยุทธศาสตร์ ได้ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อการพัฒนาประเทศอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้น่ากลัวกว่านั้น เพราะรัฐบาลปัจจุบันซึ่งกำลังจะกลับมาเป็นรัฐบาลในอนาคตกำลังเข้าใจผิดเอาว่า ไทยเรามี “ยุทธศาสตร์ชาติ” แล้ว ทั้งๆที่มันยังไม่ใช่ !!!

ยุทธศาสตร์ชาติเป็นอะไรที่ต้องยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา ตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบัน การเขียนยุทธศาสตร์ชาติแบบผิดๆ เอาไว้ในรูปแบบกฎหมาย ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ยาก จึงเป็น “จุดตาย” ที่น่ากลัวที่สุดของไทยในขณะนี้

เกษมสันต์​ วีระกุล

*********


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment