คปภ. เตือน อย่าหลงเชื่อ - แชร์ “ข้อมูล Black List บริษัทประกันภัย”

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวและการส่งต่อข้อความเกี่ยวกับรายชื่อบริษัทประกัน วินาศภัยที่ถูก Black List เกี่ยวกับสถานะทางการเงินและ การไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ นั้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่า เป็นข้อความเก่าที่มีการส่งต่อกันมาโดยไม่ปรากฏแหล่งที่มาของข้อมูล และไม่เป็นความจริง เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกกล่าวอ้าง ได้แก่ บริษัท พาณิชยการประกันภัย จำกัด บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด และบริษัท พัชรประกันภัย จำกัด ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้ว ในระหว่างปี 2547 ถึงปี 2557

สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกกล่าวอ้างอีก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีฐานะการเงินและการดำเนินงาน เป็นไปตามที่ กฎหมายว่าด้วย พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 กำหนดไว้

ดังนั้น ข้อความที่มีการส่งไลน์แอพพลิเคชั่นดังกล่าว จึงสร้างความเสียหาย ต่อภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึงทำลาย ความเชื่อมั่น ของผู้ทำประกันภัยและประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับความเสียหายจากข่าวลืออันเป็นเท็จ ได้มีการดำเนินการ ทางกฎหมาย กับผู้ที่สร้างข่าวลือจนนำไปสู่การออกมา แถลงข่าว และขอโทษผ่านสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังคงมีผู้ส่งต่อข้อความดังกล่าวอยู่ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ ก่อนตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวลือที่ได้รับหรือความถูกต้องของข้อมูลที่มีการส่งต่อกันมา โดยสามารถสืบค้นข้อมูลด้านการประกันภัยได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th และหากเป็นข่าวที่ไม่จริงหรือข่าวปลอมควรหลีกเลี่ยงการส่งต่อ เนื่องจากตามกฎหมายแล้วผู้ที่ผลิตข่าวเท็จ บิดเบือน และนำออกเผยแพร่บน Social Media โดยการนำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน รวมถึงผู้ที่ส่งต่อข้อมูลเท็จโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ซึ่งมีโทษตามกฎหมาย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment