ครบรอบ 73 ปีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศทั่วโลกต่างต้องการสันติภาพและความสงบสุข แนวคิดในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (United Nations - UN) จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2484 ระหว่างการประชุมของฝ่ายพันธมิตร นำโดยแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ร่วมลงนามในกฎบัตรแอตแลนติก เพื่อจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ และเป็นผู้เริ่มใช้คำว่า “สหประชาชาติ”

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎบัตรสหประชาชาติได้ผ่านการลงนามจากประเทศสมาชิกถาวร (Permanent Members) 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน รวมถึงประเทศสมาชิกที่ลงนามในกฎบัตรขณะนั้น โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ตุลาคม 2488 จึงถือว่าวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันสหประชาชาติ"

ความสำคัญของสหประชาชาติ

จุดประสงค์สำคัญในการก่อตั้งองค์การสหประชาชาตินั้น คือ เพื่อระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศคู่กรณีด้วยสันติวิธี เป็นแกนกลางในการนำสันติภาพอันถาวรมาสู่โลก เป็นศูนย์กลางความร่วมมือช่วยเหลือระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพ

ปัจจุบันมีสมาชิก 193 ประเทศทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีภาษาทางการที่ใช้อยู่ 6 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย จีน และภาษาอาหรับ

เลขาธิการแห่งสหประชาชาติคนปัจจุบันที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งต่อจากนายบัน คีมูน (Ban Ki-moon) ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 คือ นายอันโตนิอู กุแตเรช (António Guterres) ชาวโปรตุเกส

องค์การหลักของสหประชาชาติ

องค์การสหประชาชาตินั้นมีองค์กรหลักอยู่ 6 องค์กร ได้แก่ สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly), คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council), คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council), คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council), สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ (The Secretariat) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 73 (UNGA73) ในปีนี้ นางมารีอา เฟอร์นันดา เอสปิโนซา การ์เซส (H.E. Mrs. María Fernanda Espinosa Garcés) ประธานสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 73 ได้กำหนดหัวข้อการอภิปรายคือ “การทำให้สหประชาชาติเกี่ยวข้องกับประชาชน : การเป็นผู้นำระดับโลก และความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อสังคมที่สันติสุข เท่าเทียมและยั่งยืน” (Making the United Nations Relevant to All People: Global Leadership and Shared Responsibilities for Peaceful, Equitable and Sustainable Societies)

โดยในปีนี้มีผู้นำประเทศเกือบ 130 ประเทศ รัฐมนตรีต่างประเทศ ศิลปินเกาหลี ดาราฮอลลีวูดและเซเลบริตี้เดินทางเข้าร่วมประชุมกันอย่างคับคั่ง และในการประชุมครั้งนี้จะมีการประชุมย่อยๆ กว่า 342 ครั้ง รวมถึงการประชุมทวิภาคีของประเทศสมาชิกอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ส่วนประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยนั้นมีอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่วิกฤตผู้อพยพและผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะชาวโรฮีนจา ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ การปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และการขึ้นกล่าวปราศรัยในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศของแอนน์ แฮทธาเวย์ (Anne Hathaway) นักแสดงสาวชาวอเมริกัน เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูล

http://www.un.org/en/sections/history/history-united-nations/index.html

https://www.yahoo.com/news/gridlock-k-pop-things-know-un-general-assembly-025654427.html

http://sdg.iisd.org/events/73rd-session-of-the-un-general-assembly/

http://www.mfa.go.th/main/th/news3/6886/94535-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมพิธี.html


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment