{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือพาร์ทเนอร์หลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม แพลตฟอร์มดิจิทัล เดินหน้าสานต่อแคมเปญ ‘DPS Trust Every Click’ เปิดวงเสวนา ‘ร่วมพลังปิดสวิตช์โฆษณาลวง – โฆษณาผิดกฎหมาย’ ตั้งเป้ารับมือและลดความเสี่ยงจากภัยอาชญากรรมออนไลน์ พร้อมแนะควรสร้าง Checklist รู้เท่าทันโฆษณาปลอม และ Education Plan ยกระดับภูมิคุ้มกันดิจิทัลในระบบการศึกษาและคอมมูนิตี้ออนไลน์
นางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลและภาคอีคอมเมิร์ซขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภัย “โฆษณาหลอกลวง” ที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของมิจฉาชีพ เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์นี้ ETDA จึงจับมือพาร์ทเนอร์หลายภาคส่วน เดินหน้าแคมเปญ “DPS Trust Every Click” พร้อมเปิดวงเสวนาภายใต้แนวคิด “ร่วมพลังปิดสวิตช์ โฆษณาลวง–ผิดกฎหมาย” โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อตั้งแต่ต้นทางของปัญหา โดยใช้กลยุทธ์ของการแลกเปลี่ยนมุมมองความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและการสื่อสารที่เข้าถึงผู้ใช้งานจริง เสริมด้วยการผลักดันเชิงนโยบาย การแจ้งเตือนแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกการคลิกมั่นใจได้ว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง ซึ่ง ETDA ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลักดัน “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 และการจัดทำ คู่มือแนวปฏิบัติต่างๆ ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ อย่าง “คู่มือการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานร่วมในการดูแลโฆษณาออนไลน์ โดยเน้นการคัดกรองเชิงรุก การติดตามตรวจสอบ และการเสริมบทบาทให้แพลตฟอร์มมีส่วนร่วมรับผิดชอบมากขึ้นต่อเนื้อหาที่ปรากฏบนระบบของตน มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดโอกาสในการเกิดการฉ้อโกง แต่ยังยกระดับความโปร่งใสในระบบโฆษณาดิจิทัล สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
นางสาวศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมาย ETDA ได้เผยถึงข้อมูลสถิติในช่วงปีที่ผ่านมาว่า มีข้อร้องเรียนโฆษณาหลอกลวงกว่า 3,381 เรื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การหลอกลงทุน การใช้ภาพคนดังแอบอ้าง ไปจนถึงขายสินค้าปลอม การปลอมตัวเป็นสถาบันการเงิน หรือสร้างเพจปลอมเพื่อชักจูงเหยื่อ ซึ่งสร้างความเสียหายรวมพุ่งทะลุกว่า 19,000 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 1 ปี ทั้งหมดนี้คือภัยเงียบที่เติบโตอย่างรวดเร็วบนหน้าจอสมาร์ตโฟนและแพลตฟอร์มโซเชียลที่ผู้บริโภคคุ้นเคย ทั้งนี้ ETDA ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้กฎหมาย DPS ได้วางกลไกการดำเนินงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่แนวทางปฏิบัติไปจนถึงมาตรการกำกับดูแล เพื่อสร้างความโปร่งใสและลดความเสี่ยงจากโฆษณาหลอกลวงบนแพลตฟอร์มดิจิทัลแนวทางดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ แนะแนวปฏิบัติ (Guideline) เช่น การยืนยันตัวผู้ลงโฆษณา การกำหนดผู้รับผิดชอบ และการเปิดเผยข้อมูลผ่าน Ads Library เพื่อให้ผู้ใช้งานตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้การตรวจสอบและรับแจ้ง ที่เน้นกลุ่มโฆษณาเสี่ยงสูง เช่น การเงิน-ลงทุน โดยมีระบบคัดกรองและช่องทางแจ้งเหตุจากผู้ใช้งาน ยกระดับกำกับดูแล หากยังพบความเสี่ยงแพลตฟอร์มอาจถูกจัดเป็น “แพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง” ซึ่งต้องปฏิบัติตามหน้าที่เพิ่มเติมตามกฎหมายและมีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งล่าสุดได้มีประกาศ สพธอ. ที่ ธพด. 4/2568 เรื่อง กำหนดรายชื่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่งพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2568 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา
ในวงเสวนา ยังได้สะท้อนภาพรวมสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว พันตำรวจโท ดร. ปุริมพัฒน์ ธนาพันธ์สิริ รองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้เผยข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่า จำนวนคดีอาชญากรรมไซเบอร์พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในปี 2567 มีการแจ้งความทะลุ 400,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 60,000 ล้านบาท และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 ยอดการแจ้งความสะสมก็ทะยานแตะ 166,000 คดีแล้ว โดยกว่า 50% ของคดีทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งผู้เสียหายหลักคือผู้หญิงวัยทำงานมากถึง 64% สะท้อนให้เห็นว่า “กลุ่มผู้ใช้งานดิจิทัลประจำ” กลายเป็นเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพ
พร้อมกันนี้ คุณ เบสท์-ชนิดาภา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์ ดารา-นักแสดง ที่เคยตกเป็นผู้เสียหายจากโฆษณาหลวง ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากการเป็นเหยื่อของโฆษณาหลอกลวงที่แฝงตัวมาในรูปแบบของการรับสมัครอินฟลูเอนเซอร์รีวิวโรงแรม ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ก่อนลวงให้ทำภารกิจสะสมคะแนน หลอกล่อด้วยการโอนเงินค่าตอบแทนจริงในช่วงแรก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนลวงให้โอนเงินล่วงหน้าโดยอ้างว่าเป็นทุนสำรอง แล้วใช้กลลวงทางจิตวิทยา เช่น การเร่งรัดเวลาจาก “หน้าม้า” ในกรุ๊ปแชตเพื่อกดดันให้หลงเชื่อและโอนเงิน จนท้ายที่สุดต้องสูญเงินให้กับมิจฉาชีพมูลค่ารวมกว่า 1,200,000 บาท โดยย้ำว่า “ความมั่นใจว่า เราฉลาดพอจะไม่ถูกหลอก คือกับดักที่อันตรายที่สุด” และกลโกงผ่านโฆษณาไม่ได้เลือกเหยื่อตามวัยหรืออาชีพ แต่ใช้เทคนิคเร่งเร้า ความน่าเชื่อถือปลอม และแรงกดดันจิตใจจนผู้เสียหายขาดสติในการตัดสินใจ
ด้านแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้แทนจาก Google อย่าง คุณ Andri Kusumo Trust and Safety Global Engagements APAC Lead เปิดเผยว่า ปัจจุบันการหลอกลวงทางออนไลน์มีความซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฟิชชิง (Phishing), โรแมนซ์สแกม (Romance Scam) หรือการปล่อยมัลแวร์ผ่านโฆษณา ซึ่งล้วนเป็นภัยที่ยากจะตรวจจับในทันที หากไม่มีระบบกรองที่เข้มข้น เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ Google ได้พัฒนาและนำเสนอกลไก Ads Safety ที่ผสานการตรวจสอบผ่านระบบตรวจสอบอัตโนมัติด้วย AI และ การตรวจสอบโดยมนุษย์ เพื่อคัดกรองเนื้อหาโฆษณาอย่างรอบด้าน โดยในปีที่ผ่านมา เพียงปีเดียว Google สามารถลบโฆษณาที่ละเมิดนโยบายมากกว่า 5,100 ล้านชิ้น ระงับบัญชีโฆษณาที่ผิดกฎได้กว่า 40 ล้านบัญชี ครอบคลุมโฆษณาทุกประเภทที่เข้าข่ายหลอกลวง เช่น ขายสินค้าหรือบริการปลอม หลอกให้ทำงานพิเศษหรือกู้เงิน รวมถึงชักชวนให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว พร้อมเสริม 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การป้องกัน (Prevention) ออกแบบระบบที่ตรวจจับความเสี่ยงได้ตั้งแต่ต้นทางก่อนโฆษณาจะเผยแพร่ การตรวจจับ (Detection) ใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมของบัญชีและโฆษณาแบบเรียลไทม์ การตอบสนอง (Response) เมื่อพบความผิดปกติ ระบบจะดำเนินการระงับบัญชี ลบโฆษณา และแจ้งเตือนผู้ใช้อย่างทันท่วงที โดย “ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ” อย่าง ETDA ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบคัดกรองมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างสภาพแวดล้อมโฆษณาที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่เป็นช่องทางให้ภัยเงียบออนไลน์แทรกซึมเข้าถึงผู้ใช้อย่างง่ายดาย
ภายในงานยังย้ำถึงความสำคัญของมาตรการ Screening & Monitoring ที่รัดกุม พร้อมเสนอให้มีแนวทางบังคับใช้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกโฆษณาต้องผ่านการตรวจสอบก่อนเผยแพร่ (Pre-screening) และมีระบบติดตามหลังเผยแพร่ (Monitoring) อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอแนะให้มีการออกแบบ “Ads Awareness Checklist” สำหรับให้ประชาชนใช้เป็นแนวทางสังเกตพฤติกรรมโฆษณาเสี่ยง รวมถึง Education Plan ที่บูรณาการความรู้เท่าทันภัยออนไลน์เข้าสู่ระบบการศึกษา และขยายผลในกลุ่มคอมมูนิตี้ต่างๆ ครอบคลุมทั้งในเมืองและพื้นที่ชนบท ให้คนไทยทุกวัยสามารถสังเกตและตั้งคำถามกับโฆษณาที่น่าสงสัยด้วยตนเอง ซึ่งทุกข้อคิดเห็นที่เกิดขึ้น ETDA จะรวบรวมเพื่อนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาคู่มือตลอดจนแนวปฏิบัติทีเกี่ยวข้องต่อไป-ติดตามความเคลื่อนไหวของ DPS Trust Every Click ได้ที่เพจ ETDA Thailand
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS