{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 11 ธันวาคม 2567ที่ระดับ 33.72 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.65-33.85 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเผชิญแรงกดดันบ้าง ตามการทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะให้โอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ ราว 86% ทว่าในปี 2025 ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 3 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าที่เฟดได้เคยระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน และเฟดอาจจบรอบการลดดอกเบี้ยในปี 2025 ได้ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ยังได้ กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุโซน 151.50 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น และเป็นอีกปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทหลังจากทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการทยอยปิดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อนึ่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Nvidia -2.7% จากรายงานข่าวว่า ทางการจีนได้เริ่มสอบสวนกรณีที่ Nvidia อาจละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของจีน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet +5.6% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.30%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.52% กดดันโดยหุ้นธีม China Recovery อย่าง หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH -2.5%, Hermes -1.9% หลังรายงานข้อมูลการส่งออกและนำเข้าของจีนล่าสุด ออกมาน่าผิดหวัง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอจับตาสถานการณ์การเมืองของฝรั่งเศส
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น และแกว่งตัวเหนือโซน 4.20% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า แม้เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงต่อได้ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทว่าในปีหน้า เฟดก็อาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่เคยระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน พอสมควร อนึ่ง แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงนี้ แต่เราคงมองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ก็อาจเป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) บอนด์ระยะยาว เนื่องจาก Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซน 151.50 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 106.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.8-106.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจดูไม่น่ากังวลมากนัก แต่ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ยังพอได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก และรายงานข่าวว่า ธนาคารกลางจีน(PBOC) ได้ทยอยกลับเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติม ส่งผลให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,720-2,730 ดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยเฉพาะในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ โดย EIA ที่มักจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤศจิกายน ที่มีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น หนุนโดยการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แถวโซน 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน ในช่วงระหว่างวัน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย
โดยเราประเมินว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาตามที่ตลาดคาด เช่น +0.3%m/m ทั้งในส่วนของ Headline CPI และ Core CPI ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงต่อได้ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ ซึ่งอาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ แกว่งตัว sideways ใกล้ระดับก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าวได้ (เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดไปพอสมควรแล้ว almost fully priced-in)
ขณะที่ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงมากกว่าคาด (โอกาสเกิดน้อย) เช่น +0.2%m/m หรือน้อยกว่านั้น (ยิ่งมีโอกาสเกิดน้อยมาก) ก็อาจเห็นผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้น ว่าเฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนธันวาคม และอาจเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปี 2025 ได้ ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง หนุนทั้งราคาทองคำและเงินบาท
ทว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด เช่น +0.35% ขึ้นไป (หรือมีการปัดเศษให้ถึงระดับดังกล่าว) จะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่ และมีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดจะเริ่มมองว่า มีโอกาส 50-50 ที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อพอสมควรได้ กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลงหนัก ส่วนเงินบาทก็เสี่ยงอ่อนค่ากลับไปโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้
เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) สามารถแกว่งตัวเกือบ +0.5%/-0.4% ได้ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.95 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS