{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ซีพีเอฟ จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เตรียมใช้เทคโนโลยี Environmental DNA (eDNA) ในการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ในแหล่งน้ำและพื้นที่กันชน ร่วมสนับสนุนภาครัฐแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัท ได้กำหนดแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล เช่น การจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกในการปล่อยปลาผู้ล่า ตามขั้นตอนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติงานเชิงรุกของบริษัทฯ ภายใต้โครงการที่ 5 ที่มุ่งมั่นร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว
ผศ.ดร.ธงชัย พุฒทองศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สจล. เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ได้นำเทคโนโลยี eDNA มาวิเคราะห์ DNA ของปลาหมอคางดำที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการประเมินสุขภาพโดยรวมของระบบนิเวศทางน้ำ จากการเก็บรวบรวมร่องรอยพันธุกรรมที่สัตว์ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบุความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และเข้าใจว่าจำนวนประชากรของปลามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การวิเคราะห์และประเมินผลด้วยวิธีนี้จะช่วยป้องกันการระบาด และโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. กล่าวว่า เทคโนโลยี eDNA เป็นวิธีการใหม่ในการสำรวจสัตว์น้ำและประเมินความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจพบร่องรอยดีเอ็นเอที่สัตว์น้ำปล่อยออกมาในน้ำ ช่วยระบุการมีอยู่ของสัตว์น้ำชนิดนั้นได้ แม้ในปริมาณหรือจำนวนตัวที่น้อยมาก หรือในบริเวณที่ยากต่อการสำรวจแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยเครื่องมือประมง
“การใช้ eDNA สำรวจการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้สามารถระบุขอบเขตพื้นที่ที่มีการระบาดได้ชัดเจน กำหนดพื้นที่กันชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด สามารถนำข้อมูลมาประกอบการพัฒนาการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้อย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.วัลย์ลดา กล่าว
สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่าง สจล. กับซีพีเอฟ จะทำการศึกษาในลุ่มน้ำสำคัญของประเทศไทย โดยเริ่มต้นเก็บน้ำในพื้นที่ที่มีรายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จากนั้นนำตัวอย่างน้ำที่เก็บได้ไปทำการวิเคราะห์ eDNA ในห้องปฏิบัติการ เพื่อระบุการมีอยู่และความหนาแน่นของปลาหมอคางดำในแต่ละพื้นที่ รวมถึงแหล่งน้ำที่ยังไม่ระบาดแต่มีโอกาสเสี่ยงของการแพร่กระจาย (พื้นที่กันชน) นำมาช่วยให้การวางแนวทางการเฝ้าระวังและกำหนดมาตรการควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพและทราบผลได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ในการศึกษายังครอบคลุมถึงการหาความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ของสัตว์น้ำประจำถิ่นชนิดอื่นๆ อาทิ ปลาผู้ล่าในธรรมชาติ ซึ่งทำได้โดยการจับปลาด้วยตาข่ายหรือเครื่องมือประมงที่เหมาะสม จากนั้นนับจำนวนและระบุชนิดของปลาที่จับได้ในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อนำมาร่วมพิจารณาหาแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.วัลย์ลดา กล่าวต่อไปว่า การวิเคราะห์ผลจากเทคโนโลยี eDNA จะสนับสนุนการวางแผนและกำหนดวิธีการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถปล่อยปลาผู้ล่าที่เป็นชนิดเดียวกับที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องนำปลาผู้ล่าชนิดอื่นที่อาจเป็นเอเลียนสปีชีส์เข้าไปในพื้นที่
สำหรับแผนปฏิบัติการเชิงรุกของซีพีเอฟ ในการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ประกอบด้วย โครงการที่ 1 สนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม โครงการที่ 2 ร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว โครงการที่ 3 ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมจับปลา อุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา โครงการที่ 4 ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ และโครงการที่ 5 ทำวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS