ตลาดทุนร่วมใจสร้างกุศลบริจาคโลหิตมีนาคม – ธันวาคม 2567

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ซึ่งประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พร้อมกับสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยให้กลับมาดำรงชีพและประกอบอาชีพได้ จึงร่วมจัดทำโครงการตลาดทุนร่วมใจสร้างกุศลบริจาคโลหิต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 (โครงการตลาดทุนร่วมใจสร้างกุศลบริจาคโลหิตฯ) เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อร่วมเป็นพลังสำคัญในการช่วยเหลือผู้อื่น และสร้างประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวม โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม – ธันวาคม 2567

ก.ล.ต. และพันธมิตรในตลาดทุน จัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 โดยศูนย์บริการโลหิตฯ ให้ความอนุเคราะห์ออกหน่วยเคลื่อนที่มารับบริจาคโลหิต ณ อาคารสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ในภาคตลาดทุน ทั้งจาก ก.ล.ต. สมาคมที่เกี่ยวข้อง บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน รวมถึงบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมบริจาคโลหิตเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2567 มีผู้ร่วมบริจาคโลหิตแล้ว จำนวน 2,536,570 ซีซี และยังสามารถร่วมบริจาคโลหิตผ่านโครงการตลาดทุนร่วมใจสร้างกุศลบริจาคโลหิตฯ ได้ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

จากตัวเลขสถิติของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย (ศูนย์บริการโลหิตฯ) ระบุว่า โลหิตถือเป็นยารักษาโรคที่ยังไม่มีนวัตกรรมใด ๆ มาทดแทนได้ ทำให้มีความจำเป็นในการรับบริจาคโลหิต จากเพื่อนมนุษย์ โดย 23% ของโลหิตที่ได้รับบริจาค จะถูกนำไปใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น อีก 77% ของโลหิตที่ได้รับบริจาค จะนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดหลังคลอดบุตร เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งการผ่าตัด ต้องมีโลหิตสำรองไว้ระหว่างการผ่าตัด 2 - 3 ยูนิต ในกรณีที่มีอาการรุนแรง 5 - 10 ยูนิต และหากโลหิตไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องเลื่อนการผ่าตัด อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้

ในการบริจาคโลหิต ผู้บริจาค 1 คน สามารถบริจาคโลหิตได้ปีละ 4 ครั้ง หรือห่างกันทุก ๆ 3 เดือนต่อปี และต้องปฏิบัติตนตามเงื่อนไขของศูนย์บริการโลหิตฯ เพื่อให้ได้โลหิตที่มีคุณภาพ พร้อมส่งต่อไปยังผู้ป่วยที่รอรับการรักษา โดยโลหิต 1 ถุง สามารถนำไปช่วยผู้ป่วยได้ถึง 3 ชีวิต โลหิตทุกหยดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเพื่อนมนุษย์ที่รอรับการรักษา เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขต่อไป และเป็นการให้ที่สร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ “ให้โลหิต เท่ากับ ให้ชีวิต”

โครงการตลาดทุนร่วมใจสร้างกุศลบริจาคโลหิตฯ ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังบริษัทสมาชิก อาทิ บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพื่อเชิญชวนผู้บริหารและพนักงาน รวมถึงครอบครัว ญาติของผู้บริหารและพนักงาน ประชาชนทั่วไป มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพลังสำคัญของภาคตลาดทุนไทยที่พร้อมช่วยเหลือสังคม ซึ่งโลหิตที่รับบริจาคจะถูกนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอรับการรักษา สำหรับผู้บริจาคโลหิตเพียงเตรียมร่างกายให้พร้อมตามข้อแนะนำของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ

เนื่องด้วยการบริจาคโลหิตจึงถือเป็นการสร้างกุศลและเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ ที่ทุกคนสามารถร่วมสร้างกุศลได้ด้วยตัวเอง ก.ล.ต. จึงขอเชิญชวนร่วมบริจาคโลหิตได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ รวมถึงโรงพยาบาลและจุดรับบริจาคโลหิตทั่วประเทศ หรือจุดรับบริจาคโลหิตที่บริษัทหรือองค์กรจัดกิจกรรมขึ้น ณ ที่ทำการ หรือสถานที่ตามจุดรับบริการต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า และขอเชิญชวนผู้เข้าร่วมโครงการรายงานการบริจาคได้ที่ www.capthaiblooddonation72.org/ ซึ่งผู้บริจาคสามารถรายงานด้วยตนเองหรือรายงานในนามองค์กรก็ได้ โดยในเว็บไซต์จะแสดงข้อมูลรายละเอียดโครงการ รายชื่อบริษัทและปริมาณโลหิต การบันทึกข้อมูลปริมาณโลหิตที่บริจาค แสดงผลรวมของหน่วยงานหรือบริษัทที่มีปริมาณการบริจาคโลหิตสูงสุด 10 อันดับแรก และอัปเดตผลรวมทุกสัปดาห์ อีกทั้งเพื่อให้ทุกท่านได้เข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ หากหน่วยงานหรือบริษัทที่เข้าร่วมโครงการมีการจัดกิจกรรม ทางโครงการตลาดทุนร่วมใจสร้างกุศลบริจาคโลหิตฯ จะช่วยประชาสัมพันธ์และพร้อมเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการบอกต่อกิจกรรมดี ๆ ต่อไป


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment