สวทช.ตั้งศูนย์ NSD พัฒนาเทคโนป้องกันชาติ

สวทช.ตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ หรือ National Security and Dual-Use Technology Center (NSD) เพื่อขับเคลื่อน New S-Curve ที่ 11

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่าสวทช. ได้จัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์” หรือ NSD ขึ้นในปี 2562 เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติฯ ภายใต้หนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) และนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็น S-Curve ตัวที่ 11

โดยศูนย์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรับมือจากภัยความไม่สงบและอาชญากรรมทาง เทคโนโลยีที่ผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพแหล่งจ่ายพลังงาน และเทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยพิบัติ รวมถึงมีหน้าที่สร้างเครือข่ายและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสองทาง เพื่อใช้เป็นยุทธภัณฑ์และยุทโธปกรณ์การทหาร ตำรวจ และสามารถประยุกต์ใช้กับทางพลเรือน เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยกับสังคม พร้อมตอบกลยุทธ์สร้างเครือข่ายนักวิจัย นักวิชาการ และกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง

ซึ่งล่าสุด ศูนย์ NSD สวทช. ได้นำนวัตกรรมจำนวน 5 ผลงานภายใต้ศูนย์ฯ จัดแสดงในงาน Defense & Security 2019 ระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ประกอบด้วย ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone System) เพื่อใช้ในการป้องกันโดรนที่บินเข้าไปสอดแนมหรือบุกรุกพื้นที่สำคัญ ซึ่งตัวโดรนแจมเมอร์ (Drone Jammer) จะเข้าไปรบกวนอุปกรณ์การบินของโดรน ทำให้ไม่สามารถบินโดรนได้ ผลงาน QFace: Facial recognition access control ซึ่งเป็นระบบการจดจำใบหน้าของมนุษย์โดยอัตโนมัติเพื่อการเข้าพื้นที่ควบคุม ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี AI ที่สร้างความเชื่อมั่นและมั่นคงให้กับประเทศ ผลงาน Graphene-Based Supercapacitor and Battery คือ แบตเตอรี่ปลอดภัย ปัจจุบันมีข่าวของเรื่องแบตเตอรี่ระเบิด ทางศูนย์ฯ กำลังวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ที่ไม่ระเบิด ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาแบตเตอรี่ไออนสังกะสีแบบอัดประจุซ้ำได้ มีสมรรถนะต่อต้นทุนและวงรอบการใช้งานสูง ผลงาน Electrostatic Air Purifier for PM2.5 ซึ่งเป็นนวัตกรรมป้องกันและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นระบบการกรองอากาศด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้าสถิต สามารถสร้างอากาศบริสุทธิ์ได้ในปริมาณมาก อีกทั้งแผ่นกรองที่ใช้ในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ยังสามารถนำมาล้างทำความสะอาดได้ ไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นกรอง เป็นสิ่งที่มาช่วยในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม การรับมือภัยพิบัติของฝุ่นละออง และท้ายสุดกับผลงาน e-Nose และ sense-Nose ตรวจสารเสพติด ซึ่งเป็นจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจวัดและจำแนกกลิ่นได้ รวมไปถึงนวัตกรรมเครื่องตรวจสารเสพติดในปัสสาวะขนาดพกพา ราคาถูก เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ศูนย์ NSD สวทช. ยังให้ความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม ในการจัดสัมมนานานาชาติ เรื่อง “Impact of the 4th Industrial Revolution on Defence and Security - Graphene เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ภายในงาน Defense & Security 2019 โดยมี ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยกราฟีนและนวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ NSD สวทช. ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรในงานสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีกราฟีนกับการป้องกันประเทศ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment