บี.กริม เพาเวอร์ กดปุ่ม COD โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 2 แล้วส่วน อ่างทอง 3 รอ ธ.ค.66

โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประกาศเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 2 และเตรียม COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 3 ในเดือนธันวาคม 2566 นี้

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 2 และ อ่างทอง 3 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 180 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 25 ปี ในรูปแบบต้นทุนพลังงานส่งผ่าน (pass through) และส่วนที่เหลือเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง ซึ่งจะสร้างกระแสเงินสดอย่างมั่นคงให้กับ บี.กริม เพาเวอร์ อย่างต่อเนื่องไปอีก 25 ปีข้างหน้า

สำหรับทิศทางของ บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นในการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศสู่เป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap – Global and Green” โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาโครงการในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา อิตาลี กรีซ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% ในปี 2573 นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้า มุ่งลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าจัดหาพลังงานที่ตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรแก่ลูกค้า (Industrial Solutions) ตลอดจนการจัดหาแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อการผลิตไฟฟ้าสำหรับอนาคต (Sustainable Fuels) เป็นต้น

ส่วนแนวทางการบริหารต้นทุนจากก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเข้าก๊าซ LNG ในรูปแบบ Regulated Market หรือภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนก๊าซธรรมชาติ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment