นับถอยหลังเลือกตั้งกัมพูชา (3) พรรคฝ่ายค้านกัมพูชา

กัมพูชาประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผ่านการครอบงำจากคอมมิวนิสต์มาสู่ประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้

กัมพูชาอยู่ภายใต้อำนาจผู้นำเพียงคนเดียว คือ นายกฯ ฮุน เซน มาตลอดระยะเวลาสามทศวรรษ และยังมีความพยายามที่จะอยู่ในตำแหน่งผู้นำต่อไปอีก ทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเริ่มหน่ายกับผู้นำท่านนี้ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปจากที่เป็นอยู่ อยากเห็นประเทศเปลี่ยนไปเป็นเสรีนิยมจริงๆ จึงเทใจมาทางพรรคฝ่ายค้านหลัก

พรรคฝ่ายค้านที่ประชาชนส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงไปให้มากสุด คือ พรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือ CNRP รองลงมาคือ พรรคฟุนซินเปค ที่เหลือก็จะเป็นพรรคเล็กๆ ที่ได้คะแนนหลักหมื่น พรรค CNRP จึงเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักที่ทำให้สถานะพรรคประชาชนกัมพูชาไม่ปลอดภัย นายกฯ ฮุน เซนเกิดความกังขากลัวว่าจะถูกแย่งเก้าอี้

พรรคฝ่ายค้านหลักหรือพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNRP) ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 จากการรวมตัวของ พรรคสมรังสี (Sam Rainsy Party: SRP) ของนายสม รังสี (Sam Rainsy) และพรรคสิทธิมนุษยชน (Human Rights Party: HRP) ของนาย กึม ซกคา (Kem Sokha) กวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมาทั้งหมด 55 ที่นั่งจาก 123 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2556 จนเกือบเอาชนะพรรคประชาชนกัมพูชา

พรรค CNRP ชูนโยบายเสรีนิยมประชาธิปไตย กระจายอำนาจสู่เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นให้มากขึ้น พร้อมประกาศกร้าวว่าจะปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง แม่ทัพใหญ่ผู้คุมบังเหียนพรรคคนแรกคือ นายสม รังสี แต่มีเหตุให้ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปลายปี 2558 จากการถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทหลายคดี ซึ่งนายสม รังสีกล่าวว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

หลังจากรัฐบาลร่างกฎหมายใหม่ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองทำงานร่วมกับผู้ที่มีคดีอาญาติดตัว ทำให้นายสม รังสีประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 โดยระบุว่าเพราะต้องการปกป้องพรรค CNRP ให้มีสิทธิลงเลือกตั้งได้ในปี 2561 พร้อมทั้งให้ นายกึม ซกคาขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน

เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามคาด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560 นายกึม ซกคา ถูกบุกจับที่บ้านพักในข้อหากบฏขายชาติ ส่งผลให้บรรดาสมาชิกของพรรคกว่าครึ่งจากทั้งหมด 55 คนรวมถึงรองหัวหน้าพรรค นางมู ซกฮัว (Mu Sochua) ต่างลี้ภัยออกนอกประเทศ เพราะเกรงว่าจะถูกกวาดล้างจับกุม

ล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ศาลกัมพูชามีคำสั่งยุบพรรค CNRP จากข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏสมคบคิดกับสหรัฐฯ หวังโค่นล้มรัฐบาล ทำให้สมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชา 118 คน ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ส่วนพรรคการเมืองใหญ่อีกพรรค และถือเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในกัมพูชา คือ พรรคฟุนซินเปค (FUNCINPEC) พรรคการเมืองแนวนโยบายนิยมเจ้า สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตนายกรัฐมนตรีและพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา

พรรคฟุนซินเปคในยุคของพระองค์นั้นได้รับความนิยมอย่างสูงสุดจากประชาชน เนื่องมาจากความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อสมเด็จพระนโรดม สีหนุ รวมถึงความสามารถและบารมีของนักการเมืองในพรรคยุคนั้นด้วย แต่หลังจากพระนโรดม รณฤทธิ์มาเป็นหัวหน้าพรรค และพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซน ในการเลือกตั้งปี 2541 พรรคฟุนซินเฟคก็ได้กลายมาเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาล

แต่ในระยะหลังมานี้ ความนิยมในพรรคเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ โดยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคฟุนซินเปคได้คะแนนเสียงไปเพียงสองแสนกว่าคะแนนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความนิยมของประชาชนที่ให้การสนับสนุนพรรคนั้นลดลงถึงขีดต่ำสุด

การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ นอกจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านที่เหลือเพียงพรรคฟุนซินเปคที่จะลงสมัครเลือกตั้งแล้ว ยังมีพรรคอื่นๆ ที่มาลงทะเบียนสมัครเลือกตั้งอีก 16 พรรค แต่เป็นเพียงพรรคเล็กๆ ที่ไม่ได้สร้างความวิตกให้แก่พรรครัฐบาล

แม้ว่าจะหมดเสี้ยนหนามตำใจ ไร้คู่แข่งหลักอย่างพรรค CNRP แล้ว แต่อย่าลืมไปว่าโครงสร้างประชาชนกัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีกลุ่มคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาทั้งจากในและนอกประเทศจึงมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล อยากเห็นประเทศพัฒนาทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมั่นคง

ขอขอบคุณข้อมูล

https://www.thairath.co.th/content/1313786#cxrecs_s

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/781563

https://www.bbc.com/thai/international-41525553

https://www.bbc.com/thai/international-41159629

https://www.bbc.com/thai/international-39036543


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment