ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เร่งขยายศักยภาพรัอมอุตสาหกรรมการบิน ท่องเที่ยวเติบโต

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่จะถึงนี้จะเป็นวันครบรอบ 17 ปี การดำเนินงานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ท่าอากาศยานกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังการเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ซึ่งใน 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - สิงหาคม 2566) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2565 ทสภ. มีเที่ยวบินที่ทำการบินรวมทั้งสิ้น 268,477 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.4 มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 44.40 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 153.4 ทำให้เมื่อนับรวมตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 รวมระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ทสภ. ได้ต้อนรับและให้บริการผู้โดยสารจากทั่วโลกแล้วทั้งสิ้น 756.47 ล้านคน ด้วยเที่ยวบินรวม 4.74 ล้านเที่ยวบิน และให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งสิ้น 20.95 ล้านตัน

เพื่อรองรับการเติบโตพร้อมกับการก้าวสู่ปีที่ 18 ทสภ. ได้มีแผนงานทั้งในส่วนของการขยายพื้นที่ให้บริการ ลงทุนใหม่ในโครงสร้างพื้นฐานหลักของท่าอากาศยาน ตลอดจนเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของการเปิดพื้นที่บริการใหม่นั้น ในวันที่ 28 กันยายน 2566 ทสภ. จะเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ อาคาร SAT-1 ในรูปแบบ Soft Opening พร้อมประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะก่อนพิจารณาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบก่อนสิ้นปี 2566 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ. จาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี

พร้อมกับการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองแห่งใหม่นี้ ทสภ. ได้นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการจัดการกับกระเป๋าสัมภาระ Check-in โดยติดตั้งระบบ Individual Carrier System (ICS) ซึ่งเป็นระบบขนส่งสัมภาระความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก (MTB) กับอาคาร SAT-1 มีจุดเด่นสามารถติดตามกระเป๋าสัมภาระที่มีความแม่นยำสูง ลดปัญหากระเป๋าสัมภาระเสียหายในขั้นตอนการลำเลียงขึ้นอากาศยานได้

นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ทสภ. ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาเพิ่มศักยภาพการรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้นในระยะต่อไป คือโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ซึ่งตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2567 และสนับสนุนให้ ทสภ. สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากปัจจุบันที่มีรันเวย์ 2 เส้น สามารถรองรับได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ซึ่งจะขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี ด้วยการเพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร สถานะปัจจุบันได้ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการปรับแบบให้สอดคล้องกับบริบทด้านการบินในปัจจุบัน คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการฯ ต้นปี 2567 นี้

ทางด้านบริการในพื้นที่เขตปลอดอากร ทสภ. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศ โดยมีการนำระบบการจัดการข้อมูลในเขตปลอดอากร (Free zone Data Management System: FDMS) ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุม ติดตาม ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของสินค้ามาใช้ในการบริหารจัดการและรายงานความเคลื่อนไหวของสินค้าภายในพื้นที่เขตปลอดอากร โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถลงทะเบียนจองคิวรับ - ส่ง สินค้าผ่านทางเว็บไซต์ https://ezcargo.airportthai.co.th และสามารถตรวจสอบคิวรับ-ส่งสินค้าได้ผ่านช่องทาง Mobile Application (EZ Cargo by AOT)

นอกจากนี้ ทสภ. ได้ติดตั้งระบบบริหารจัดการและจัดเก็บค่าบริการจอดรถ AOT Parking Management System (AOT PMS) ประกอบด้วยระบบจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์แบบอัตโนมัติ (Auto Pay) ณ อาคารจอดรถยนต์โซน 2 และโซน 3 ที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกชำระค่าบริการด้วยเงินสดหรือสแกน QR Code ผ่าน Application (AOT Smart Carpark) นอกจากนี้ใน Application สามารถแสดงจำนวนช่องจอดแบบ Real Time และสามารถค้นหาตำแหน่งที่จอดรถของผู้ใช้บริการได้ (Finding Car) โดยขณะนี้ระบบทั้งหมดอยู่ระหว่างการทดสอบระบบฯ

คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปลายปี 2566

นอกจากการเดินหน้าขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ แล้ว ทสภ. ยังให้ความสำคัญกับการประกอบธุรกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยได้เป็นท่าอากาศยานต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Airport) แห่งแรกในประเทศไทย จากโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ที่อาคารผู้โดยสาร กำลังการผลิตขนาด 4.408 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มีการใช้พลังงานจากเเสงอาทิตย์เเล้ว แผงโซลาร์เซลล์ยังช่วยให้ความร้อนภายในอาคารผู้โดยสารลดลงมากกว่า 7 องศา ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3,600 ตันต่อปี และในระยะต่อไปจะดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์อาคารอื่นๆ ภายในท่าอากาศยาน รวมถึง Floating Solar บนพื้นน้ำในเขต ทสภ. ด้วย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment