เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษที่คนทั่วโลกยกย่อง

ทำความรู้จักรัฐบุรุษที่คนทั่วโลกยกย่อง

------ 

“No one is born hating another person because of the color of his skin, or his background, or his religion. People must learn to hate, and if they can learn to hate, they can be taught to love, for love comes more naturally to the human heart than its opposite.”

“ไม่มีใครเกิดมาแล้วเกลียดคนที่สีผิว ภูมิหลังหรือศาสนา คนเราเรียนรู้ที่จะเกลียดและถ้าพวกเขาเรียนรู้ที่จะเกลียดได้ พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะรักได้เช่นกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ความรักนั้นเกิดขึ้นในใจเราได้ง่ายกว่าความเกลียดชัง”

.

วาทกรรมสร้างกำลังใจของรัฐบุรุษคนสำคัญของโลก นักสู้ผู้ปลดปล่อยความเกลียดชังการเหยียดผิว ผู้สร้างสันติภาพให้แอฟริกาใต้ “เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)” วันนี้เมื่อ 28 ปีที่แล้ว (11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533) อดีตประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังถูกคุมขังนาน 27 ปี จากการเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกคนผิวสีในแอฟริกาใต้

.

เนลสัน แมนเดลา เป็นผู้นำคนสำคัญในโครงการรณรงค์ต่อต้านของสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (African National Congress: ANC) ที่ต่อสู้เพื่อคนผิวสีเจ้าของแผ่นดินเดิม ให้มีความเสมอภาคกับเจ้าอาณานิคมผิวขาว หลังจากรัฐบาลออกกฎหมายแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ที่กดขี่คนผิวสีอย่างมาก เช่น การแบ่งเขตที่อยู่อาศัยของคนผิวสีที่ต้องย้ายไปอยู่ในดินแดนห่างไกล และต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเขตของคนผิวขาวเพื่อแลกกับค่าแรงอันน้อยนิด

.

การจดทะเบียนแบ่งแยกตามเชื้อชาติ ซึ่งคนผิวสีถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ ถูกลิดรอนสิทธิในสิ่งที่ควรจะได้รับ เช่น การเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน การศึกษา การเข้าถึงแหล่งทำมาหากิน การเข้ารับบริการจากรัฐและบริการทางการแพทย์ 

.

กฎหมายที่นำมาถึงจุดแตกหักของคนผิวสี คือการจำกัดสิทธิทางการเมือง ไม่ให้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนในสภา หากผู้ใดไม่เห็นด้วยกับกฎหมายหรือขัดขืนต่อคำสั่งจะถูกจับกุมทันที โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายและถูกคุมขังอย่างไม่มีกำหนด

.

เนลสัน แมนเดลา ผู้ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านในขณะนั้น ได้ใช้วิธีการต่อสู้ตามหลัก สัตยะเคราะห์ของมหาตมะ คานธี แต่รัฐบาลกลับตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง ทำให้ แมนเดลาและผู้ร่วมขบวนการถูกจับกุมใน พ.ศ. 2499 ในข้อหากบฏ กว่าแมนเดลาและพวกจะพ้นผิดต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี 

ระหว่างนั้น สถานการณ์ทางการเมืองในแอฟริกาใต้เริ่มรุนแรงขึ้น หลังจากพรรคชาตินิยมซึ่งเป็นฝ่ายขวานำโดยคนผิวขาวที่สนับสนุนการแบ่งแยกสีผิว ชนะการเลือกตั้งและได้ออกกฎหมาย Apartheid ทำให้แมนเดลารู้ว่าการต่อสู้แบบอหิงสาใช้ไม่ได้กับประเทศนี้และไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เขาจึงเริ่มใช้การต่อสู้แบบสงครามกองโจร ปลุกระดมมวลชนให้จับอาวุธขึ้นสู้ จนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง

.

ผู้นำฝ่ายขวาจัดในสหรัฐฯ ประณามการกระทำของเขาว่าเป็นการก่อการร้ายและหลายประเทศขึ้นบัญชีดำห้ามเดินทางเข้าประเทศ กระทั่งถูกจับกุม เมื่อ พ.ศ. 2505 ในข้อหาก่อวินาศกรรม พยายามโค่นล้มอำนาจรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรง และถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 

.

หลังสิ้นสุดการพิจารณาคดี เนลสัน แมนเดลาได้ประกาศให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงความเชื่อของตัวเองว่า

“ข้าพเจ้าได้อุทิศตนต่อสู้เพื่อชาวแอฟริกัน ข้าพเจ้าต่อต้านการปกครองของคนผิวขาว และการปกครองของคนผิวดำ ข้าพเจ้าเชิดชูอุดมคติของประชาธิปไตยและสังคมอันเสรี ซึ่งทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน นี่คือสังคมอุดมคติที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปให้ถึง เป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าพร้อมจะอุทิศชีวิตให้”

.

ในระหว่างที่แมนเดลาถูกคุมขัง เกิดกระแสกดดันจากทั่วโลกให้ปล่อยตัว สุดท้ายรัฐบาลทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องยอมปล่อยตัวแมนเดลาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังทั้งสิ้น 27 ปี 

.

หลังจากถูกปล่อยตัว แมนเดลาเข้ารับตำแหน่งผู้นำพรรคเอเอ็นซี และได้เจรจาต่อรองกับประธานาธิบดี เอฟ.ดับเบิลยู. เดอ เคลิร์ก (F. W. de Klerk) ให้มีการจัดการเลือกตั้งแบบหลากชนชาติครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และเป็นไปตามคาด เนลสัน แมนเดลาชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียง 62% กลายเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ 

.

แมนเดลานำความปรองดองสู่ชาติ ยกเลิกกฎหมายอัปยศ นำแอฟริกาใต้สู่ประชาธิปไตยแทนการแก้แค้น เพราะแมนเดลารู้ดีว่า คนขาวคือคนที่นำความเจริญมาให้ พวกเขาถือเป็นหุ้นส่วนของประเทศนี้ ที่สำคัญแอฟริกาใต้ก็เป็นบ้านของพวกเขาเช่นเดียวกัน

#OnthisDay #สำนักข่าวสับปะรด #NelsonMandela


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment