ก.อุตฯ ชงมาตรการใหม่สนับสนุนเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่เผาอ้อย

ปลัดฯ อุตสาหกรรม เปิดมาตรการใหม่ in cash & in kind ช่วยเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่เผาอ้อย ผ่านการให้เงินช่วยเหลือรูปแบบใหม่ พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมบริหารจัดการไร่อ้อย ย้ำทุกหน่วยงานบังคับใช้และกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่มีกฎหมายและมีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามแผนของรัฐบาลในการจัดการกับฝุ่นพิษ PM 2.5 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 โดยหนึ่งในสาเหตุหลักมีแหล่งที่มาจากฝุ่นควันของการเผาไร่อ้อย ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำผิดและฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ยังเป็นการเอารัดเอาเปรียบส่วนรวม และเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

เนื่องจากการเผาไร่อ้อยก่อมลพิษฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณสูงมาก สามารถคงค้างอยู่ในบรรยากาศเป็นระยะเวลายาวนานและแผ่ขยายได้ตามทิศทางลม จึงปกคลุมหนาแน่นทั่วพื้นที่ในบริเวณที่มีประชนชนอาศัยอยู่ถึงกว่า 44 ล้านคน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะเวลาถึงประมาณ 6 เดือนของทุกปี ซึ่งเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงและส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนผู้หายใจอากาศที่มีฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการลักลอบเผาอ้อยเหล่านี้เข้าไป

จากข้อมูลสถิติการลักลอบเผาอ้อย พบว่า ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผาสูงถึง17.61 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 66.66 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 26.42 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผาสูงถึง 25.12 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 92.07 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ27.28 และฤดูการผลิตปี 2565/2566 พบว่ามีอ้อยที่ถูกลักลอบเผาสูงถึง 30.78 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 93.89 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.78 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นพื้นที่ที่เกิดการลักลอบเผาประมาณ 3.08 ล้านไร่ สะท้อนให้เห็นว่า ใน 2 ฤดูการผลิตที่ผ่านมา มาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือในลักษณะการให้เงินแบบเดิมในอัตรา 120 บาทต่อตันอ้อย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 จำนวนเงินรวม 14,384.79 ล้านบาท ควบคู่กับมาตรการป้องปรามของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ยังมีประสิทธิภาพโดยรวมไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาให้อ้อยถูกเผาหมดไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล

ดังนั้น จึงต้องทบทวนมาตรการและกลไกการบูรณาการในการจัดการกับปัญหาการเผาไร่อ้อย ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด พร้อมกับการออกแบบมาตรการส่งเสริมรูปแบบใหม่ เพื่อให้ชาวไร่และผู้ตัดอ้อยดำเนินการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการและการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนกว่า 44 ล้านคน ในการเข้าถึงอากาศไร้ฝุ่นพิษจากการเผาอ้อยในช่วง 6 เดือน ของทุก ๆ ปี

“เพื่อเป็นการกำกับควบคู่ไปกับการจูงใจ สนับสนุน และส่งเสริมชาวไร่อ้อยที่ไม่กระทำผิดกฎหมาย โดยไม่เผา

ไร่อ้อยของตนหรือของผู้อื่น เพื่อไม่สร้างปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายรัฐบาลที่กำหนด จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินมาตรการอย่างบูรณาการ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เน้นย้ำความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ

ที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความร่วมมือให้กระทรวงมหาดไทยทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงความพยายามร่วมกันของรัฐบาล ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะแก้ปัญหาฝุ่นพิษจากการเผาอ้อยให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการเสนอให้มีการกำหนดแนวทางการสนับสนุนส่งเสริมในรูปแบบใหม่ที่ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปฏิบัติตามกฎหมาย (คือ ชาวไร่ที่มิได้ลักลอบเผาไร่อ้อยของตนเองหรือไร่อ้อยของผู้อื่นตลอดช่วงฤดูการผลิตปี 2565/2566) ให้ได้รับการสนับสนุน ทั้งในรูปแบบที่ให้เป็นตัวเงิน (in cash) แก่ชาวไร่อ้อย และในรูปแบบที่ให้เป็นระบบการบริหารจัดการไร่อ้อยและการตัดอ้อยด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม (in kind) ภายใต้วงเงินที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระงบประมาณเกินความจำเป็น เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของรัฐในการจัดการกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างยั่งยืน และมิให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสร้างปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ต่อพี่น้องประชาชนกว่า 44 ล้านคน ต่อไป” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment