{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มั่นใจ ปรากฏการณ์เอลนิโญช่วงครึ่งปีหลัง ไม่กระทบต่อนิคมอุตสาหกรรม ชี้ศักยภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักพื้นที่จังหวัดระยอง-ชลบุรี มีใช้เพียงพอถึงปีหน้า
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนปรากฏการณ์เอลนิโญช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าอาจจะกระทบกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคเศรษฐกิจของไทยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กนอ. ได้เรียกประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระยอง 3 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อยู่ที่ 164.94 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 59.92 % เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดแล้ว ยังสามารถบริหารจัดการได้แบบไม่สะดุด เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างมีเพียงพอ อีกทั้งช่วงที่ผ่านมามีฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน 2566 ต่อไป หากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจังหวัดชลบุรี 2 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อนั้น มีปริมาณน้ำรวม 58.58 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 42.33%
“กนอ. จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม โดยหารือร่วมกับภาคเอกชน วางแผนรับมือภัยแล้งในพื้นที่อีอีซี ทั้งนี้ แหล่งน้ำหลักที่ได้รับการจัดสรรจากกรมชลประทาน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางพระ รวมถึงแหล่งน้ำที่สูบใช้ได้ในแต่ละปี มีปริมาณน้ำต้นทุนเป็นปริมาณน้ำท่าตามฤดูกาล ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง คลองทับมา และแหล่งน้ำเอกชน นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในกรณีน้ำในแหล่งน้ำมีน้อยและเกิดการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ สระสำรองน้ำดิบสำนักบก สระสำรองน้ำดิบฉะเชิงเทรา และสระสำรองน้ำดิบทับมาด้วย”นายวีริศ กล่าว
นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีปริมาณการใช้น้ำต่อวันอยู่ที่ประมาณ 100,000 – 125,000 ลูกบาศก์เมตร คาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 84.0 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำดิบจากหลายๆ แหล่ง ได้แก่ แหล่งน้ำของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ , สระพักน้ำของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด , แหล่งน้ำจากคลองน้ำหู – ทับมา และแหล่งน้ำจากบริษัท วาย.เอส เอส.พี. แอกกริเกต จำกัด (YSSP)
ผู้ว่าการ กนอ. ยังกล่าวถึงข้อกังวลต่อการเปลี่ยนผ่านผู้ให้บริการจ่ายน้ำดิบ จาก บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เป็น บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ที่จนถึงขณะนี้การวางท่อส่งจ่ายน้ำดิบในพื้นที่ทับซ้อนยังคงไม่แล้วเสร็จด้วย ว่า มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างแน่นอน โดย กนอ. มีการสำรองน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ไว้แล้ว ขณะเดียวกันได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบกับบริษัท วาย. เอส. เอส.พี. แอกกริเกต จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการน้ำในภาคอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งน้ำที่ทางบริษัทฯ จัดหานั้น ได้มาจากแหล่งน้ำแห่งใหม่ คือ คลองทับมา จึงไม่ใช่การแย่งน้ำจากภาคการเกษตร หรือการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่เป็นการดึงน้ำจากจุดที่น้ำเหลือใช้ก่อนไหลลงทะเล และแน่นอนว่าในขั้นตอนการขออนุญาตใช้น้ำจากกรมเจ้าท่านั้น ได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้อยู่แล้วว่า จะต้องไม่กระทบกับชุมชน และระบบนิเวศวิทยา ก่อนที่จะอนุญาตให้ใช้น้ำดังกล่าวได้
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS