ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ต่างชาติเที่ยวไทยเร่งตัว คาดทั้งปีมีจำนวน 28.5 ล้านคน

ในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดชาวต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากช่วง 1 ม.ค.-28 พ.ค. 2566 ที่ชาวต่างชาติเที่ยวไทยมีจำนวน 10.45 ล้านคน และทั้งปี 2566 ชาวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 28.5 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจากจีนจะกลับมาครองอันดับ 2 (จากปี 2565 ที่อยู่อันดับ 13) ขณะที่ชาติที่น่าจะกลับมาเติบโตกว่าปี 2562 หรือก่อนการระบาดของโรคโควิด คือ มาเลเซีย เวียดนาม อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวยังมีหลายโจทย์ที่ยังเป็นอุปสรรครออยู่ อาทิ

ความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่ยังมีข้อจำกัด แม้ขณะนี้ทางการได้มีการแก้ไขปัญหาความแออัดและคอขวดในท่าอากาศยานระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศฟื้นตัวมาประมาณ 58% ของปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศในช่วงเดียวกันของปี 2562 แต่เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องของผู้ให้บริการภาคพื้นดินรวมถึงการขาดแคลนแรงงาน ทำให้การเพิ่มปริมาณเที่ยวบินตามคำขอของสายการบินต่างๆ จึงยังต้องใช้เวลา

การปรับรูปแบบการยื่น E-Visa ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนในระยะสั้นโดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์ขนาดใหญ่ ซึ่งคงต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวและสร้างความคุ้นชินกับระบบการใช้งาน นอกจากนี้ การยื่นเอกสารที่ต้องแสดงหลักฐานเงินฝากขั้นต่ำในบัญชี 10,000 หยวน คงจะกระทบกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวเองที่เป็นกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาบ้าง ซึ่งในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. กลุ่มนักเรียน/นักศึกษาจะนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา โดยมองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนักท่องเที่ยวจีนน่าจะทยอยฟื้นตัว สอดรับกับการเพิ่มเที่ยวบิน ไทยยังเป็นจุดหมายที่คนจีนเลือกเดินทาง จึงมองว่า ชาวจีนเดินทางมาไทยจะอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนคน/เดือนในช่วงครึ่งปีหลัง จาก 2.5 แสนคน/เดือนในช่วงครึ่งปีแรก โดยชาวจีนเดินทางมาไทยส่วนใหญ่เป็นการเดินทางมาเอง (FIT) จองที่พักและแพคเกจท่องเที่ยวผ่านออนไลน์ทราเวลเอเจนท์ของจีน

ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง อย่างตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทยทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของตลาดในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งหากเหตุการณ์ยกระดับความรุนแรงก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของชาวรัสเซีย

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมา แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและที่พักยังมีโจทย์ท้าทายรออยู่ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อทริปยังต่ำกว่าก่อนการระบาดของโรคโควิด การฟื้นตัวของธุรกิจยังกระจุกตัวแต่เมืองท่องเที่ยวหลัก ขณะที่ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้นโดยเฉพาะด้านแรงงานที่ไม่เพียงแต่ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

แม้ประเมินว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท แต่การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อทริปยังต่ำ เฉลี่ยอาจอยู่ที่ประมาณ 46,900 บาทต่อคนต่อทริป (ในปี 2562 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 47,895 บาทต่อคนต่อทริป) มาจากหลายปัจจัย ได้แก่ โครงสร้างของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่าครึ่งยังเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ดังนั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจแม้จะไม่กระทบแผนการท่องเที่ยว แต่มีผลต่องบประมาณการท่องเที่ยวและการเลือกที่พักที่ราคาไม่สูง นอกจากนี้ ยังมาจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป อย่างการเน้นเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และการกินอาหารแบบคนท้องถิ่นอย่าง Steet food รวมถึงอุปทานโรงแรมและที่พักที่มีสูงและแนวโน้มที่พักเปิดใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักทำให้การแข่งขันในธุรกิจมีความรุนแรง ผู้ประกอบการบางรายยังต้องใช้กลยุทธ์ราคาในการทำตลาด

การฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึงเนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่จังหวัดหลักของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี เป็นต้น แม้เมืองรองเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังนิยมท่องเที่ยวในจังหวัดหลัก สำหรับราคาที่พักเฉลี่ยทั่วประเทศในปี 2566 มองว่า น่าจะปรับขึ้นประมาณ 30% จากปีที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมยังต่ำกว่าปี 2562 จากการแข่งขันที่ยังรุนแรงหลังจากผู้ประกอบการทยอยกลับมาดำเนินการทั้งฟื้นฟูและขยายการลงทุน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยหนุนให้ปีนี้ อัตราการเข้าพักทั่วประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 66% จาก 48% ในปี 2565

ธุรกิจมีโจทย์ต้นทุนเพิ่มขึ้นหลายด้าน อาทิ ต้นทุนแรงงานที่สูง จากการแข่งกันดึงดูดแรงงานเนื่องจากปัญหาแรงงานขาดแคลน นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนทางการเงิน จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทรงตัวสูง ขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคอย่างค่าไฟ ต้นทุนอาหารและเครื่องดื่มยังสูง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรของผู้ประกอบการ

ดังนั้น มองว่า โจทย์สำคัญของภาคการท่องเที่ยวสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ ในระยะสั้น คงจะได้แก่

การดูแลประเด็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่คาอยู่มาตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้ง และคงจะยังเป็นเรื่องต่อเนื่องต่อไปแม้กระทั่งหลังจากที่ค่าแรงขั้นต่ำอาจถูกปรับขึ้นตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงกันไว้

จริงๆ แล้ว ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างโรงแรมประสบกับสถานการณ์ที่ยังลำบากแม้โควิดจะคลี่คลายลง เนื่องจากแม้รายได้ธุรกิจในภาพรวมจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนแต่ก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ โดยอาจจะยังต้องใช้ระยะเวลาอีก 1-2 ปีกว่าที่ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับสู่ระดับปี 2562 หรือก่อนโควิด ซึ่งส่งผลให้การทยอยเรียกแรงงานที่ได้คืนถิ่นไปในช่วงโควิดให้กลับมาเท่าเดิมของธุรกิจจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ (และแรงงงานคืนถิ่นบางส่วนก็มีอาชีพอื่นที่มั่นคงแล้ว) ในขณะเดียวกัน เมื่อความต้องการแรงงานมีมากขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจ รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ มีนโยบายหาเสียงเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในจังหวะของการเลือกตั้ง ทำให้แรงงานที่จะกลับเข้าสู่ธุรกิจมีความคาดหวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงเป็นแรงกดดันด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นต่อธุรกิจทั้งในด้านการหาแรงงานและค่าแรงที่ต้องปรับขึ้น ถึงแม้ว่าธุรกิจจะไม่ได้จ่ายค่าแรงอิงตามค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมดก็ตาม

และแม้ถัดจากนี้รัฐบาลชุดใหม่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ ประเด็นต้นทุนแรงงานของธุรกิจก็จะยังไม่หายไป โดยเฉพาะปริมาณนักท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีการขยายการลงทุนในตลาดมากขึ้น ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะยังคงอยู่หรืออาจรุนแรงขึ้น โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมาก จะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางหรือเล็กที่มีข้อจำกัดในการปรับตัวหรือมีความสามารถในการทำกำไรต่ำ เช่น ผู้ประกอบการที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวรองซึ่งโดยปกติมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่สูง ทำให้อาจเป็นความเสี่ยงที่ต้องลดการให้บริการลง หากไม่สามารถปรับเพิ่มราคาหรือค่าบริการได้

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เป็นสิ่งจำเป็นต่อการรับมือกับโจทย์ที่ต่อเนื่องนี้ โดยภาครัฐอาจพิจารณาการให้แรงจูงใจธุรกิจในการเร่งพัฒนาผลิตภาพแรงงาน เช่น หากผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานได้ไม่น้อยกว่าอัตราการเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำ จะได้รับการลดหย่อนภาษีหรือแรงจูงใจอื่นๆ หรืออาจพิจารณามาตรการที่เคยทำในอดีต ได้แก่ การนำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มมาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษี การเพิ่มเพดานค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มาหักลดหย่อนภาษีจากเดิมกำหนดไว้ 2 เท่า การลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรม/ที่พักแรม เป็นต้น นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถปรับใช้เทคโนโลยีด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง

นอกจากโจทย์ต้นทุนการดำเนินธุรกิจแล้ว การท่องเที่ยวยังมีโจทย์สำคัญด้านนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจน อาทิ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและการใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงกีฬา อย่างการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของสนามกีฬาที่ได้ระดับมาตรฐาน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการรักษาพยาบาล ซึ่งต้องมีการสนับสนุนในเรื่องของการลงทุนเทคโนโลยีการแพทย์และบุคลากร เป็นต้น

การผลักดันนโยบายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้สู่เมืองท่องเที่ยวรอง ปัจจุบัน ชาวต่างชาติยังคงท่องเที่ยวอยู่ในเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี ซึ่งนอกจากรายได้ยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะเมืองหลักแล้ว ยังเกิดปัญหาความแออัดในสถานที่ท่องเที่ยว ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการลงทุนที่เกิดขึ้นยังอยู่เฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างไรก็ดี การส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวรองยังต้องมีการสนับสนุในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและระบบขนส่งที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองท่องเที่ยวมีความจำเป็น

โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งภาครัฐคงต้องเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้พัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ESG) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การจัดตั้งหน่วยงานให้ความรู้กับผู้ประกอบการในการปรับตัวและมีมาตรฐานเป็นที่รองรับในระดับสากล รวมไปถึงการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล นอกจากนี้ ปัญหาสภาวะโลกร้อน อากาศที่ร้อนจัดและมีแนวโน้มจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีผลต่อภาคการท่องเที่ยว ภาครัฐควรจะมีนโยบายที่เข้มข้นในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว เช่น การป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าพร้อมกับให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงการรักษาทรัพยากรต้นน้ำ เป็นต้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment