โจทย์ท้าทายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

โจทย์เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งปี 2566 มีทั้งประเด็นระยะสั้นและระยะกลางที่มีความท้าทายอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงขอนำเสนอประเด็นเตรียมความพร้อมสำหรับรัฐบาลใหม่สำคัญๆ ดังนี้

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลบวกต่อ GDP ในระยะสั้น แต่มีโจทย์ภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางนโยบายทางเศรษฐกิจที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่โดยมากแล้วเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง การปรับขึ้นค่าแรง การบรรเทาภาระการครองชีพจากราคาพลังงานที่สูง ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และหากสามารถดำเนินการได้ก็จะส่งผลบวกต่อ GDP ในระยะสั้น แต่ก็จะมีโจทย์ภาระการคลังที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย เนื่องจากหากแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบายดังกล่าวมาจากการจัดสรรงบประมาณใหม่คงทำได้ระดับหนึ่งแต่ไม่น่าจะเพียงพอ หรือใช้รายได้รัฐบาลจากการเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นก็อาจจะต้องรอระยะเวลาให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม ซึ่งคงไม่ทันช่วงเวลาที่จะต้องมีรายจ่าย ดังนั้น รัฐบาลใหม่คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

โจทย์การคลังมาในจังหวะต้นทุนดอกเบี้ยสูง และหากรัฐบาลขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะเป็นการแย่งทรัพยากรเงินทุนกับภาคเอกชนในจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัว หากรัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณสูงกว่าเดิมเพื่อดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้น ต้นทุนการก่อหนี้เพิ่มเติมของรัฐบาลจะมีภาระเพิ่มมากขึ้นในจังหวะดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่คาดว่าจะไปอยู่ที่ร้อยละ 2.00 นอกจากนั้น การก่อหนี้เพิ่มของรัฐบาลมากๆ อาจจะเป็นการแย่งทรัพยากรเงินทุนกับภาคเอกชน ดังนั้น รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณากระจายการก่อหนี้ให้เหมาะสม มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้เอกชนในจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว

ยังมีโจทย์ท้าทายทางเศรษฐกิจไทยที่สำคัญที่กำลังรอรัฐบาลใหม่อยู่ โดยเฉพาะประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องอาศัยความเข้าใจและมองประเด็นดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน การวางนโยบายที่ครอบคลุมและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และคาดหวังที่จะเห็นการแสดงวิสัยทัศน์และแสดงบทบาทของรัฐบาลใหม่ในฐานะผู้นำต่อโจทย์ท้าทายดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

โจทย์ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มเห็นการแบ่งโลกออกเป็นสองขั้วชัดขึ้น การเลือกย้ายฐานการลงทุนจะเห็นการแบ่งแยกขั้วมากขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นได้จากห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ในอนาคตอาจจะเห็นการแบ่งแยกขั้วที่ชัดเจนขึ้นและขยายวงไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกลับมายังทิศทางการส่งออกของไทย การเดินหน้าจับคู่ลงทุนและการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ สำหรับไทยยังเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่

โจทย์ใหญ่เชิงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสังคมสูงอายุและประชากรที่ลดลงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ความน่าสนใจของประเทศในฐานะแหล่งลงทุน ไปจนถึงการเก็บรายได้ของรัฐบาล การรับมือกับโจทย์สังคมสูงอายุ นอกจากจะมีความเกี่ยวพันกับประเด็นปัญหาของตลาดแรงงานทั้งในมิติความเพียงพอของแรงงาน ความสอดคล้องกันของทักษะแรงงานและความต้องการของตลาด รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแล้ว ยังมีโจทย์อีกด้านในฝั่งการเงินที่ต้องเดินคู่ขนานกัน ซึ่งก็คือ โจทย์การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านการสร้างรายได้ สนับสนุนการก่อหนี้สร้างมูลค่าเพิ่มต่อครัวเรือน ปรับโครงสร้างหนี้ที่ยั่งยืนสำหรับกลุ่มที่มีหนี้อยู่แล้ว รวมถึงการสร้างวินัยการออมที่ต้องผลักดันโจทย์การออมให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อีกทั้งใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่าอายุของรัฐบาล เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

โจทย์ด้านนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ โดยมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมกำลังกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) รูปแบบหนึ่งที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเวทีการค้าโลก รวมถึงมีผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (อียู) หรือ CBAM ที่จะเริ่มให้ผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมที่กำหนดรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียูในเดือนตุลาคม 2566 นี้ และจะเริ่มเก็บจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่เริ่มเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการเหล่านี้ จำกัดอยู่ที่ธุรกิจรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างความตื่นตัวสำหรับกิจการขนาดเล็กลงไป หรือกิจการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานภายในประเทศให้ชัดเจน สอดคล้องกับการดำเนินการสากล เพื่อให้ง่ายและเอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นมาตรการทางภาษี แต่ก็ย่อมซ้ำเติมปัญหาสถานะทางการคลังในอนาคต หรือเป็นมาตรการภาคบังคับ ซึ่งคงต้องขบคิดประเด็นด้านการแบกรับต้นทุนส่วนเพิ่มของผู้ประกอบการ และแรงกดดันต่อรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นกว่ามาตรการภาคสมัครใจอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ ประเด็นที่นำเสนอมาเป็นการรวบรวมประเด็นด้านเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ คงต้องรอความชัดเจนในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีใหม่ต่อไป


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment