ทานาบาตะ เทศกาลแห่งดวงดาวญี่ปุ่น

วันที่ 7 เดือน 7 เป็นวันทานาบาตะ (Tanabata) หรือเทศกาลแห่งดวงดาวของญี่ปุ่น

มีต้นกำเนิดมาจากนิทานโบราณของญี่ปุ่น ที่เล่าถึงเจ้าหญิงทอผ้าซึ่งเป็นธิดาแห่งราชาเทนไตผู้ครองสวรรค์ ชื่อว่า โอริฮิเมะ (Orihime) พบรักกับเจ้าชายคนเลี้ยงวัว ชื่อว่า ฮิโกะโบชิ (Hikoboshi) ทั้งคู่อาศัยอยู่บนสวรรค์

ทั้งเจ้าหญิงทอผ้าและเจ้าชายเลี้ยงวัวต่างก็เป็นคนขยันขันแข็งและตั้งใจทำงาน แต่หลังจากที่ได้ครองรักกัน ทั้งคู่กลับละเลยหน้าที่ของตนเอง คือ ไม่ทอผ้าให้ชาวสวรรค์ใช้และไม่เลี้ยงดูแลวัว ปล่อยให้วัวเดินเพ่นพ่านจนเดือดร้อนไปทั่วสวรรค์ เมื่อราชาเทนไตรู้เรื่องราวความลุ่มหลงในความรักจนลืมหน้าที่การงานของทั้งคู่ก็โกรธมาก สั่งจับทั้งคู่ให้แยกกันไปอยู่กันคนละฟากของท้องฟ้า โดยมีแม่น้ำแห่งสวรรค์ชื่ออะมาโนะกะวา (Amanogawa) หรือทางช้างเผือกกั้นกลางระหว่างทั้งคู่ไว้

เจ้าหญิงโอริฮิเมะเศร้าโศกเสียใจมาก จนราชาเทนไตรู้สึกสงสารและอนุญาตให้ทั้งสองเจอกันได้ปีละครั้ง คือ ในวันที่ 7 เดือน 7 แต่เมื่อได้เจอกันก็ยังมีแม่น้ำหรือทางช้างเผือกขวางกั้นอยู่ ฝูงนกกางเขนเห็นใจทั้งคู่จึงอาสาใช้ปีกเป็นสะพานให้เจ้าหญิงเดินข้ามไปพบคนรัก แต่ถ้าหากปีไหนฝนตก ฝูงนกกางเขนก็ไม่สามารถพาข้ามมาได้ ทำให้ทั้งคู่ต้องรอพบกันในปีถัดไป

ในคืนวันเทศกาลทานาบาตะ จะเห็นดาวเจ้าหญิงทอผ้า หรือดาวเวก้า (Vega) ดาวที่สดใสที่สุดในกลุ่มดาวพิณ และดาวเจ้าชายเลี้ยงวัว หรือดาวอัลแตร์ (Altair) ซึ่งเป็นดาวที่สดใสที่สุดในกลุ่มดาวนกอินทรี ส่องแสงสว่างสดใสที่สุดในรอบปี โดยมีทางช้างเผือกกั้นกลาง

ในวันที่ 7 เดือน 7 ชาวญี่ปุ่นจะขอพรจากดวงดาวและขอพรให้อากาศดี เพื่อให้เจ้าหญิงทอผ้าและเจ้าชายเลี้ยงวัวได้พบกัน และพรที่ตัวเองขอจะได้สมหวังไปด้วย โดยเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแผ่นเล็กหลากสีที่เรียกว่า ทังซะกุ แล้วนำไปแขวนบนกิ่งไผ่วางไว้ตามหน้าบ้าน โรงเรียน หรือสถานที่สำคัญต่างๆ โดยเชื่อกันว่ากิ่งไผ่สามารถช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้

นอกจากทังซะกุแล้ว ที่กิ่งไผ่ยังมีของประดับที่ทำจากกระดาษอีกหลายอย่าง เช่น นกกระเรียนกระดาษเพื่อขอพรให้อายุยืน กิโมโนกระดาษเพื่อขจัดโชคร้ายและโรคภัย ถุงหรือกระเป๋าเงินกระดาษเพื่อขอพรด้านการเงินและธุรกิจ แหกระดาษเพื่อขอพรความสำเร็จในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรหรือการประมง

หลายพื้นที่ของญี่ปุ่นมีการจัดเทศกาลทานาบาตะ โดยเฉพาะที่เมืองเซ็นได (จังหวัดมิยากิ) และ เมืองฮิราซึกะ (จังหวัดคานางาวะ) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในการจัดเทศกาลทานาบาตะ บางเมืองจะจัดงานในเดือนสิงหาคมซึ่งใกล้เคียงกับวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติแบบดั้งเดิม

ตำนานทานาบาตะของญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากตำนานของจีน โดยในวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน (ปีนี้ตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม) ชาวจีนถือกันว่าเป็น “วันแห่งความรัก”

วันที่ 7 เดือน 7 ตามจันทรคติของจีน ชาวจีนเรียกกันว่า ชีซีเจี๋ย (Qixi Jie) หรือ หนี่ว์เอ๋อร์เจี๋ย (Nu’er Jie) ซึ่งแปลว่า เทศกาลหญิงสาว หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Double Seven Festival

วันแห่งความรักของชาวจีนมีที่มามาจากตำนานรักของหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า นิทานปรัมปราของจีนที่เล่าถึง นางฟ้าจือหนี่ว์ (Zhi Nu) ซึ่งมีความหมายว่า สาวทอผ้าได้เกิด เบื่อหน่ายชีวิตบนสวรรค์ จึงแอบหนีลงมาบนโลก จนได้พบและแต่งงานกับหนิวหลาง (Niu Lang) ชายเลี้ยงวัว ที่จือหนี่ว์แอบหลงรักตั้งแต่อยู่บนสวรรค์

เมื่อเจ้าแม่หวังหมู่บนสวรรค์ทราบเรื่องก็โกรธมาก บังคับให้จือหนี่ว์เลือกระหว่างจะกลับไปสวรรค์ตามเดิม หรือจะยอมให้สามีและลูกๆ ถูกสังหาร จือหนี่ว์จึงต้องยอมเลือกที่จะกลับไปสวรรค์

ต่อมา หนิวหลางได้เดินทางไปตามหาจือหนี่ว์บนสวรรค์ด้วยความช่วยเหลือของวัวเฒ่า แต่ถูกเจ้าแม่หวังหมู่ขัดขวางและใช้ปิ่นปักผมผ่าท้องฟ้าเป็นสองฝั่ง เกิดแม่น้ำสีเงินกว้างใหญ่ที่ไหลเชี่ยวกั้นระหว่างทั้งสองให้พรากจากกัน และอนุญาตให้ทั้งสองพบกันได้ปีละครั้งในคืนแรม 7 ค่ำ เดือน 7 โดยในค่ำคืนนี้ ฝูงนกกระเรียนที่ซาบซึ้งในความรักของทั้งสองจะบินมาเรียงตัวกันเป็นสะพาน ให้ทั้งสองเดินมาเจอกัน

เทศกาลชีซี เริ่มมีการเฉลิมฉลองมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. 337-736) และในปี 2558 เทศกาลนี้ถูกบันทึกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติจีน

ตามประเพณีดั้งเดิม ในเทศกาลชีซี หญิงสาวชาวจีนจะถวายผลไม้และเหล้าแด่นางฟ้าจือหนี่ว์ในยามค่ำคืน เพื่อขอพรให้มีฝีมือในการเย็บปักถักร้อยเช่นเดียวกับนาง บ้างก็นำด้ายหลายๆ สีมาแข่งกันร้อยเข็ม 7 เล่ม เชื่อกันว่าใครสามารถร้อยด้ายเข้ารูเข็มทั้ง 7 เล่มได้เร็วที่สุดใต้แสงจันทร์ หมายถึงการเป็นผู้มีฝีมือในด้านการเย็บปักถักร้อย

ปัจจุบัน ชาวจีนจำนวนมากนิยมเข้าพิธีแต่งงาน หรือจดทะเบียนสมรสกันในเทศกาลนี้ บางคู่ก็อาจใช้โอกาสนี้ฉลองครบรอบการครองรักกัน ส่วนหนุ่มสาวก็จะมอบดอกไม้หรือของขวัญให้กัน

ที่เกาหลีก็มีเทศกาลชิลซ็อก (Chilseok) ที่ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติแบบดั้งเดิม ตามตำนานเป็นเรื่องราวความรักระหว่างสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัวเช่นเดียวกันกับของจีนและญี่ปุ่น เทศกาลนี้ตรงกับช่วงสิ้นฤดูร้อนต่อกับต้นฤดูฝน เชื่อกันว่าน้ำตาของสาวทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัวที่ร้องไห้เสียใจที่ต้องจากกันอีกครั้งในวันนี้เพื่อรอเจอกันอีกทีในปีหน้า คือฝนต้นฤดูที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดสายในช่วงเย็นของวันชิลซ็อกนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูล

https://www.chinahighlights.com/festivals/double-seventh-festival.htm

https://gbtimes.com/qixi-festival-and-story-chinese-valentines-day

https://asiasociety.org/korea/chilseok-traditional-korean-valentine’s-day

https://www.jnto.or.th/newsletter/tanabata/

http://anngle.org/th/j-culture/tanabata.html


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment