อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. ชะลอลงที่ 5.55%

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. ชะลอลงที่ 5.55% จากราคากลุ่มอาหารสดที่ลดลงหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. อยู่ที่ 5.55% (YoY) ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 5.98% (YoY) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.9% จากราคาหมวดอาหารสดที่ชะลอลงมาสู่ระดับ 8.08% (YoY) เทียบกับ 10.48% (YoY) เมื่อเดือน ต.ค. จากราคาผักและผลไม้ที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย อย่างไรก็ตามราคาหมวดพลังงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 13.09% (YoY) เทียบกับ 13.07% (YoY) เมื่อเดือน ต.ค. ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้น


สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 3.22% (YoY) จากเดือนก่อนที่ 3.17% (YoY) จากราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ยกเว้นราคาเครื่องประกอบอาหารที่ชะลอตัวตามราคาน้ำมันพืชที่ปรับลดลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 11 เดือนแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.10% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.44%

Implication:

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวแต่ต้องจับตาราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานที่อาจทยอยปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. ชะลอลงจากราคาหมวดอาหารสดทั้งราคาผักและผลไม้หลังจากปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย ประกอบกับผลของฐานในปีก่อนที่เริ่มปรับสูงขึ้น แต่หากพิจารณาอัตราเฟ้อพื้นฐานพบว่าราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.13% (MoM) เร่งขึ้นเมื่อเทียบกับ 0.05% (MoM) ในเดือน ต.ค. จากการทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นทั้งหมวดอาหาร ได้แก่ ราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร อาทิ หมวดเครื่องนุ่มห่มและรองเท้า หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลจากราคาของใช้ส่วนตัว และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นต้น สะท้อนถึงการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่ส่งผลให้ราคาสินค้ายังทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องตามภาวะต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง

จับตาต้นทุนค่าไฟฟ้าที่อาจมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปี 2566 เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอาจปรับตัวเพิ่มตามต้นทุนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากตลาดโลกเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและจากเมียน ซึ่งมีต้นทุนการนำเข้าที่แพงกว่า กระทบต่อค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม - เมษายน 2566 อาจปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 5.37 บาท/หน่วย จากระดับปัจจุบันอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย (ค่าไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน - ธันวาคม 2565) Krungthai COMPASS คาดว่าค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 13.8% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% นอกจากนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นอาจซ้ำเติมให้ภาคธุรกิจมีการส่งผ่านราคาเพิ่มขึ้นในสภาวะที่ต้นทุนรอบด้านยังอยู่ในระดับสูง

ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง

Krungthai COMPASS


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment