{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า ในวันที่ 20 ตุลาคม 2565กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 (The 29thAPEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมและมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศได้แก่ธนาคารพัฒนาเอเชีย(Asian Development Bank: ADB)กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group: WBG) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) และ หน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค(APEC Policy Support Unit: APEC PSU) เพื่อร่วมหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน”โดยมีผลการประชุมAPEC FMM ครั้งที่ 29และกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้
1. ผลการประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29
1.1 ผลการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น
ด้านเศรษฐกิจ โดยผู้แทนจาก IMFได้รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0ต่อปี และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ชะลอตัวลงจากปี 2565ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค
ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5ต่อปี ที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปีและคาดการณ์ว่าในปี 2566 เศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากปี2565 โดยเศรษฐกิจโลกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและสถานการณ์ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผลการคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ ADB และ APEC PSUนอกจากนี้ADB ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าความร่วมมือของภูมิภาคเอเปค
ในด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจของเอเปคสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ ในการนี้ผู้แทนไทยได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทยโดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 - 3.5 ต่อปี เป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและนโยบายการคลัง ในลักษณะที่มุ่งเป้า (Targeted)เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
1.2 ผลการหารือในประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ADB และ OECD
ได้นำเสนอประสบการณ์ด้านการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศข้างต้น ได้กล่าวถึงกลไกที่จะสามารถส่งเสริมให้แต่ละเขตเศรษฐกิจสามารถบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ เช่น การพิจารณาใช้กลไกของกองทุนสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility: ACGF) เพื่อช่วยในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructure) การมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับการออกพันธบัตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่าง ๆ ได้แก่ การพันธบัตรสีเขียว (Green bond) พันธบัตรเพื่อสังคม (Social bond) พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) พันธบัตรสีฟ้า (Blue bond) หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นนอกจากนี้ OECD ได้เน้นด้านการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาเครื่องมือและมาตรฐานที่สอดคล้องและดำเนินการร่วมกันได้
ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการสัมมนาเรืองDeveloping the Ecosystem for Sustainable Finance in the Capital Market เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 และการจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจะสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดทำนิยามด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน การพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน การส่งเสริม SMEs ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นต้น
1.3 ผลการหารือในประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่ประชุมได้รับทราบผลของการจัดทำรายงานเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและนโยบายด้านภาษีในภูมิภาคเอเปค(Digitalization and tax policy in Asia and the Pacific)ของ ADB ซึ่งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายด้านภาษี เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในการให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง การเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การอำนวยความสะดวกโดยการเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลหรือธุรกิจ
เข้ากับเลขประจำตัวการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลต่าง ๆ เป็นต้น
ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการสัมมนาเรื่อง Digital Technology for Efficient Tax Collection ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2565โดยเป็นการหารือเกี่ยวกับการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ในการบริหารจัดการด้านข้อมูลภาษี รวมถึงแนวทางปฎิบัติด้านภาษีที่เป็นสากลยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่อง Digitalization of Fiscal Measures and Policy Innovations during the COVID-19 Pandemic ที่กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ การอำนวย
ความสะดวกด้านภาษี การเงิน การบริการของภาครัฐ การศึกษา และสาธารณสุข ทั้งนี้ เอกสารข้อเสนอดังกล่าว ได้ระบุถึงกรณีศึกษาของไทยในการดำเนินนโยบายผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อาทิ ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) การเพิ่มการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) ระบบภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (Government e-Payment system)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดทำเอกสารการพิจารณาเชิงนโยบายการเชื่อมโยงการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน (APEC Policy Considerations for Developing Cross-border Payments and Remittances) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเขตเศรษฐกิจในเอเปคที่ต้องการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างกันซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัยด้วยต้นทุนที่ถูกลงรวมทั้งสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาคซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในช่วงหลังโควิด-19
1.4 ผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของผลลัพธ์ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อประสบการณ์และวิธีการสำหรับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค(APEC Experiences and Available Tools for Financing a Just Energy Transition) จากผู้แทนสหรัฐอเมริกา ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ได้ทราบถึงแนวทางในการจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน(Just Energy Transition)ซึ่งสมาชิกเขตเศรษฐกิจสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบของแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละเขตเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป
1.5 ผลการพิจารณาแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคครั้งที่ 29
(Joint Ministerial Statement of the 29th APEC Finance Ministers’ Meeting) ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคครั้งที่ 29 (Joint Ministerial Statement of the 29thAPEC Finance Ministers’ Meeting) โดยสามารถบรรลุฉันทามติได้ในเนื้อหาส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่สามารถบรรลุฉันทามติในบางประเด็น ในการนี้ จึงจำเป็นต้องออกแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคครั้งที่ 29 (Chair’s Statement of the 29thAPEC Finance Ministers’ Meeting) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.5.1 ประเด็นเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปคประเด็นเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปคแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงแต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคได้แก่ภาวะเงินเฟ้อที่มีผลต่อราคาพลังงานและราคาอาหารสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์สภาวะชะงักงันของอุปทานรวมถึงภาวะทางการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
1.5.2 การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน และจะสามารถนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
1.5.3 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ อาทิ การจัดการด้านภาษี การระดมทุนผ่านระบบดิจิทัล
1.5.4 การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบูส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในการเสนอนโยบายที่จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การนำแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ โดยแต่ละเขตเศรษฐกิจได้เลือกประเด็นที่จะดำเนินการภายใต้เสาหลักของแผนปฏิบัติการเซบูซึ่งได้แก่ การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน การเร่งรัดการปฏิรูปและเพิ่มความโปร่งใสทางการคลัง การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และการเร่งรัดการลงทุนและการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
1.5.5 ประเด็นอื่น ๆเช่น การบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินงานของเอเปค การร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการจัดทำเอกสารข้อมูลจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคและการพัฒนาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและนำไปสู่ความยั่งยืน เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการจัดทำเอกสารจำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย (1) Policy RecommendationsPaper on APEC sustainable finance to embed a sustainability bond into Government Sustainable Finance(2) Seminar Report on Developing the Ecosystem for Sustainable Finance in the Capital Market (3) Policy RecommendationsPaper on Digitalization of Fiscal Measures and Policy Innovations during the COVID-19 Pandemic(4) Webinar Report on Digital Technology for Efficient Tax Collection (5) Seminar Report on Digitalization for Inclusive Finance Embracing the Digital Fundraising และ(6) APEC Policy Considerations for Developing Cross-Border Payments and Remittances ซึ่งเอกสารทั้ง 6 ฉบับดังกล่าว เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ในปีนี้ และเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเพื่อการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. ผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค(APEC Business Advisory Council) ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการให้บริการ ทางการเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้นใน3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบข้อมูลเปิดที่เชื่อมโยงกัน (Inter-operable Open Data) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียน (Supply Chain Finance) เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม
และรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ (3) การส่งเสริมการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางที่เชื่อมโยงกัน (Inter-Operable Central Bank Digital Currencies (CBDCs) เพื่อสนับสนุนให้มีสกุลเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการทำธุรกรรมด้านการเงินและด้านธุรกิจ
3. การหารือทวิภาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับ Mr. Christopher Hui Ching-yu, Secretary for Financial Services and the Treasury หัวหน้าคณะผู้แทนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้หารือในประเด็นหลักเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการสนับสนุนในด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน และการดำเนินงานด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านพันธบัตรสีเขียว และตราสารทางการเงิน
เพื่อการพัฒนาอื่น ๆ รวมทั้ง เห็นพ้องร่วมกันในการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ระหว่างกัน และยกระดับความร่วมมือดังกล่าวให้เข้มแข็งและสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้
การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 สะท้อนความพยายามในการร่วมมือกันขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเปค และถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงรับทราบแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการไปสู่เป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต
สำหรับการประชุม APEC FMM ครั้งต่อไป สหรัฐอเมริกาจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2566
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS