MPI ส.ค. 65 โตเดือนที่ 21 ติดต่อกัน

MPI เดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัวร้อยละ 14.52 ส่งออกสินค้าอุตฯ โตต่อเนื่องเดือนที่ 21 การบริโภคฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 99.28 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.78

สำหรับภาพรวมดัชนี MPI 8 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 99.81 ขยายตัวร้อยละ 2.72 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 8 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.43 จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศปรับตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งซื้อและเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี MPI หลังจากนี้จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ที่จะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัว

ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว

อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น

รวมถึงอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยมีเพียงอุตสาหกรรมบางกลุ่มปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 18,213.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 การนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการผลิต

ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางชะลอตัวลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 8.7 ลดลงจากเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.5

สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) คาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ ข้อพิพาทระหว่างประเทศ

รวมทั้งประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติและคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ที่คาดว่าอาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้และต้องเผชิญต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน และประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และข้อพิพาทระหว่างประเทศในช่องแคบไต้หวัน ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณไม่ปกติ ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ปัญหาการขาดแคลนชิป ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมไทย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย นอกเหนือจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment