ดัชนี KR-ECI เดือนส.ค.65 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

มุมมองต่อการจ้างงานและรายได้ที่ดีขึ้น รวมถึงราคาสินค้าบางรายการเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงหนุนดัชนี KR-ECI เดือนส.ค.65 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ในเดือนส.ค.65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 33.9 และ 35.7 จาก 32.5 และ 34.0 ในเดือนก.ค.65 เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อรายได้และการจ้างงานซึ่งเป็นไปทิศทางเดียวกับอัตราการว่างงานที่ลดลงจาก 1.9% ในเดือนม.ค.65 มาอยู่ที่ 1.3% ในเดือนก.ค.65 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ชั่วโมงการทำงานโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39.48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จาก 38.69 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในเดือนม.ค.65 สถานการณ์ตลาดแรงงานมีทิศทางที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึง 16 ส.ค.65 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยอยู่ที่ 4,015,504 คน (ครึ่งแรกของเดือนส.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 42,000 คนต่อวัน) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อดัชนีผลผลิตภาคบริการ โดยเฉพาะในส่วนของที่พักแรมและอาหารที่มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในเดือนก.ค.65 อยู่ที่ 65.24 นอกจากนี้แม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค.65 จะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 7.86%YoY แต่ระดับราคาสินค้าบางรายการมีอัตราการปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางที่ชะลอลงเมื่อเทียบรายเดือน เช่น อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เป็นต้น ขณะที่ระดับราคาน้ำมันดีเซลยังถูกตรึงไว้ที่ 35 บาท/ลิตรตลอดเดือนส.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการลงทะเบียนคนละครึ่งระยะที่ 5 ที่จะเริ่มใช้ในเดือนก.ย.65 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่าครัวเรือนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระดับราคาพลังงาน สาธารณูปโภค และบริการพื้นฐาน ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนว่าการฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI ยังมีแนวโน้มเปราะบาง การบริโภคของภาคครัวเรือนยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”หมายเหตุ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยายขอบเขตการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไปยังส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการคนละครึ่งที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค.65 วงเงิน 800 บาท โดยครัวเรือนร้อยละ 87 จะเข้าร่วมมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ขณะที่อีกร้อยละ 13 จะไม่เข้าร่วมเนื่องจากมองว่ามีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก ทั้งนี้ หลังได้สอบถามเพิ่มเติมว่าครัวเรือนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อมาตรการดังกล่าวที่ออกมาในช่วงที่ราคาสินค้าอยู่ในระดับสูง ครัวเรือนร้อยละ 42.9 มองว่าจะสามารถเข้ามาช่วงแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายรายวันได้บางส่วน เช่น พวกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร แต่มีร้อยละ 20.2 ที่มองว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช่จ่ายที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากมาตรการไม่ตอบโจทย์ ทั้งนี้ มีครัวเรือนร้อยละ 36.8 ระบุว่าอยากได้มาตรการที่ตรงจุดกว่านี้ เช่น การลดค่าน้ำค่าไฟฟ้าที่จำเป็นต่างๆ

หลังมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 เริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 -4 ก.ย. 65 พบว่ามีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 22.77 ล้านราย (จากสิทธิทั้งหมด 26.5 ล้านสิทธิ) โดยมียอดใช้จ่ายจากประชาชนอยู่ที่ 2981.8 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการใช้จ่ายในร้านอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลและผลสำรวจบ่งชี้ว่ามาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายรายวันของครัวเรือนได้บางส่วน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจำพวกอาหาร นอกจากนี้ปัจจุบันทางกระทรวงพลังงานกำลังจะมีการนำเสนอมาตรการช่วยเหลือเกี่ยวกับพลังงานเพิ่มเติม (ค่าไฟและค่าแก๊ส) ภายในเดือนก.ย.65 นี้

ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งเรื่องราคาพลังงาน โดยเฉพาะแก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ที่ยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในลักษณะขั้นบันได รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในรอบ 2 ปี แม้เราจะมองว่าผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าในปี 2565 นี้จะมีจำกัดและคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ที่ 6% แต่ยังคงต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคในระยะถัดไป ซึ่งดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค.65 แม้จะยังอยู่ในระดับสูงแต่เริ่มผ่อนลงมาที่ 10.7% YoY นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นหลังหลายพื้นที่เผชิญฝนที่ตกหนักและอาจกระทบถึงภาคเกษตรซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังราคาผักและผลไม้ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนมุมมองในส่วนของรายได้และการจ้างงาน โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ที่เป็นฤดูกาลของการท่องเที่ยว นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ทยอยออกมาจะช่วยประคับประคับในช่วงที่ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายต่าง ๆ ของครัวเรือนอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ส.ค.65) ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 33.9 และ 35.7 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 โดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อรายได้และการจ้างงาน ขณะที่ราคาสินค้าบางรายการเริ่มปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอีกหลายด้าน ภาคการท่องเที่ยวและมาตราการต่างๆ จากภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยประคับประคองในช่วงที่เหลือของปีนี้


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment