คลังเผยการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน

คลังเผยการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 8 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 7 - 8 เมษายน 2565 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า ในระหว่างวันที่ 7 – 8 เมษายน 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 8 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลาง ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานร่วม ของกรอบการประชุม AFMGM ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียนร่วมจัดการความท้าทายไปด้วยกัน” (ASEAN A.C.T.: Addressing Challenge Together) ดังนี้

1. วันที่ 7 เมษายน 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “การเงินยั่งยืน: การระดมทรัพยากรทางการเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19” โดยที่ประชุมจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจและแนวทางในการระดมทุนผ่านกลไกการเงินที่ยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19

2. วันที่ 8 เมษายน 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

2.1 การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน

กับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors Special Session with International Financial Institutions) โดยที่ประชุมจะมีการหารือในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และภูมิภาคอาเซียน รวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ ผู้แทนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่จะเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย (1) ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) (2) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) (3) สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) (4) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และ (5) ธนาคารโลก (World Bank)

2.2 การประชุม AFMM ครั้งที่ 26 ที่ประชุมจะมีการหารือร่วมกันในประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ข้อริเริ่มด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงของอาเซียน เป็นต้น และติดตามความคืบหน้าของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum: ACMF) รวมทั้งพิจารณาให้การรับรองประเด็นสำคัญภายใต้ความร่วมมือทางด้านการเงินอาเซียน (ASEAN Financial Cooperation) ได้แก่ (1) การจัดหาเงินทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Finance) (2) ความร่วมมือด้านการประกันภัย (Cooperation in Insurance Matters) (3) โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance: ADRFI) (4) ความร่วมมือด้านศุลกากรในอาเซียน (ASEAN Cooperation in Customs) (5) การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Counter Terrorist Financing: AML/CFT) และ (6) การดำเนินงานของคณะทำงานด้านภาษีของอาเซียน (ASEAN Forum on Taxation)

2.3 การประชุม AFMGM ครั้งที่ 8 ซึ่งจะเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน โดยในช่วงแรก ที่ประชุมจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกับผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ประกอบด้วย (1) สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (2) สภาที่ปรึกษาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และ (3) สภาที่ปรึกษาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับ ด้านการเงินที่ยั่งยืน และการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมด้านการค้าและการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และในช่วงที่สอง ที่ประชุมจะได้มีการหารือและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint 2025) รวมทั้งความคืบหน้าของความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุม AFMGM ได้แก่ (1) แผนงานการบูรณาการทางการเงินของอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN : RIA-Fin) รวมถึงประเด็นที่จะให้ที่ประชุมรับรอง และ (2) ความร่วมมือด้านการเงินยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Sustainable Finance Cooperation)

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในด้านการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการมุ่งไปสู่การพัฒนาด้านการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยได้ให้ความสำคัญและผลักดันเป็นแนวคิดหลักภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคที่ไทย โดยกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพในปี 2565 นอกจากนี้ ที่ประชุมจะได้หารือในประเด็นด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล บริการด้านการเงินระหว่างประเทศ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกทั้งในด้านระบบธุรกรรมทางการเงิน การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment