รมว.คลังสั่ง EXIM BANK ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนช่วยธุรกิจไทยก้าวผ่านวิกฤต

รมว.คลังมอบนโยบาย EXIM BANK ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนช่วยธุรกิจไทยก้าวผ่านวิกฤต พร้อมสร้างผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยที่แข่งขันได้ในตลาดโลก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นำโดย ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK พร้อมด้วยกรรมการและผู้บริหารธนาคาร ว่า EXIM BANK ดำเนินภารกิจได้ดีอยู่แล้ว และควรต้องขยายบทบาทมากขึ้น โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นส่งออกและขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลส่งเสริม ควบคู่กับการดำเนินภารกิจช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหา เพื่อเสริมกำลังกับภาครัฐในการประคับประคองภาคธุรกิจให้กลับมาแข็งแกร่งและขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและประชาคมโลกโดยรวม ขณะเดียวกัน EXIM BANK สามารถเสริมการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในเวทีการประชุมหรือเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่มีภารกิจด้านต่างประเทศโดยตรง โดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)

ขณะที่ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า แนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสอดคล้องกับทิศทางของ EXIM BANK ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยจะทำหน้าที่เสมือนการ “กลืนยาพิษ” เพื่อรับความเสี่ยงที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ จึงพร้อมเข้าไปสนับสนุนกิจการที่มีความเสี่ยงในระยะต้น ก่อนจะส่งต่อให้ธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป “กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่” โดยเข้าไปสนับสนุนโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมสู่อนาคต และ “หนุนทุนไทยไปต่างแดน” ทั้งด้านการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ EXIM BANK จะทำหน้าที่ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และดำเนินงานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการให้ความรู้คู่เงินทุนแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmers) เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนและสร้างผู้ส่งออกตั้งแต่ต้นน้ำ โดย EXIM BANK ได้จับมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและส่งออกได้ อันเป็นที่มาของรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2563-2564 ที่ได้รับร่วมกันจากความสำเร็จในการผลักดันผู้ส่งออก SMEs ภาคเกษตรเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย มูลค่าส่งออกกว่า 1,040 ล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment