ปฏิวัติเพาะปลิงขาว NIAคิดระบบปิดครบวงจร ขยายพันธ์ุเพิ่มรายได้ชุมชน

NIA หนุนระบบปิดเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจรให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนประมงในพื้นที่จับสร้างรายได้ ราคาสูง2,500 บาทต่อกิโลกรัม

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA จึงได้อนุมัติโครงการระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ด้วยทุนสนับสนุนจำนวน 1,135,000 บาท ร่วมกับเงินลงทุนจากบริษัท จำนวน 945,000 บาท รวมงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 2,080,000 บาท ให้กับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

ในการสนับสนุนดังกล่าวป็นการพัฒนานวัตกรรมระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร ด้วยการจำลองสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อกระตุ้นการผสมพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ปลิงขาว โดยกำหนดปัจจัยเพื่อกระตุ้นการผสมพันธุ์ คือ ความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ แสง อาหารและวัฏจักรของดวงจันทร์ ซึ่งส่งผลต่ออัตราการผสมพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ และระบบเพาะเลี้ยงในฟาร์มบนบกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาวให้มีโอกาสเจริญเติบโตประมาณ 50% ของอัตราการเกิด เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรารอด 0.01%-0.05% ในแหล่งน้ำทะเลธรรมชาติ และใช้ระบบ Microscreen system, biological filter, DO2 degassing and protein skimmer มาช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในระบบเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบก

ทั้งนี้ การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเล พร้อมช่วยยกระดับการประมงพื้นบ้านในพื้นที่ดังกล่าวให้สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งช่วยให้เกิดการจ้างงานที่จะเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตอีกด้วย

ปัจจุบันปริมาณปลิงขาวที่เป็นทรัพยากรประมงที่สำคัญของพื้นที่จังหวัด สตูล พังงา ระนอง และตรัง มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในสภาวะวิกฤติ ส่งผลต่อชาวประมงในพื้นที่ ซึ่งพบว่าปริมาณที่จับได้ลดลงประมาณ 90% เมื่อเทียบกับในอดีต เพราะไม่มีการควบคุมการเก็บปลิงขาวมาจำหน่าย หลังจากต่างประเทศที่มีความต้องการปลิงขาวเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศจีน ประเทศเกาหลี ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งพบว่าในปี 2560 ตลาดในประเทศและต่างประเทศ จะรับซื้อ 100,000 ตัน/ปี ราคา1 กิโลกรัมละ2,500 บาท เพราะโปรตีนในเนื้อปลิงทะเลมีสารมิวโคโปรตีนที่มี Chondroitin sulfuric acid เป็นองค์ประกอบสำคัญของส่วนต่าง ๆ ของ กระดูกอ่อน เอ็น และของเหลวที่หล่อลื่นตามข้อต่างๆ และยังมีความเชื่อที่ว่าสามารถรักษาโรคบางชนิดและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในแพทย์แผนจีน ซึ่งยังพบสาเหตุสำคัญอีกว่า ชาวประมงส่วนใหญ่ไม่มีการอนุรักษ์ปลิงขาวและไม่มีวิธีที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ จึงทำให้ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว

ด้านนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า โครงการระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจรถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ตอบโจทย์รัฐบาลในเชิงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยนำภูมิปัญญาสากล อันได้แก่เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วยังจะส่งเสริมให้เกษตรชาวประมงในจังหวัดตรังมีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายลือพงษ์ อ๋องเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง( วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า ต่อจากนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 12 เดือน ภายใต้งบประมาณรวมกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จตามเป้าหมาย จะสามารถสร้างรายได้ในภาคการเกษตร (สาขาประมง) และส่งผลให้เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจของจังหวัดตรังในภาพรวม ดีขึ้น และเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล ในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment