พาณิชย์ชู“BCG” และ “E-Commerce” ขับเคลื่อนผู้ประกอบการ

รมว.พาณิชย์ชูสองยุทธศาสตร์ “BCG” และ “E-Commerce” เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการไทยให้ตอบโจทย์ตลาดโลก ตั้งเป้าผู้ประกอบการกว่า 2,000 ราย สร้างมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ผ่าน 61 กิจกรรม

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการ “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ผู้นำ BCG ยุคใหม่” เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้ปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการ BCG เป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการกว่า 2,000 ราย สร้างมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ผ่าน 61 กิจกรรม อันนี้คือเป้าระยะสั้นที่เห็นอยู่ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ ตามแนวคิด BCG การพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ และการประชาสัมพันธ์ยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้บริบทการค้ายุคใหม่ ที่กระแสรักษ์โลก และเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเมกะเทรนด์ของโลก และช่วยขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ " นางมัลลิกา กล่าว

โดย นโยบายของรองนายกฯจุรินทร์ สำหรับการดำเนินโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ (1) การพัฒนาคนและสินค้า เช่น เพิ่มองค์ความรู้ด้าน BCG ในหลักสูตร NEA รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการระหว่างกรมเพื่อส่งต่อให้ได้รับการพัฒนารอบด้าน อาทิ GI OTOP Select เกษตรกร FARM OUTLET APi ตลอดจนเชื่อมโยงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” รวมถึงหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือ MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และอีก 7 หน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ระยะที่ (2) การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และสร้างความรู้ความเข้าใจ อาทิ การเผยแพร่วิดิโอให้ความรู้ “BCG คืออะไร ฉบับผู้ประกอบการ” การจัดทำ Checklist และการรวบรวมแค็ตตาลอกรวมรายชื่อผู้ประกอบการ BCG Heroes ตลอดจนการจัดทำแคมเปญเชิญชวนร่วมเป็นผู้ประกอบการ BCG #BetheChanGe และระยะที่ (3) การส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ การจัดเจรจาการค้าออนไลน์ผ่าน Thaitrade.com Shoppee Lazada รวมถึงพันธมิตรในต่างประเทศ โดยมีสินค้านำร่องศักยภาพ 5 กลุ่ม คือ อาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์เลี้ยง บรรจุภัณฑ์ ไลฟ์สไตล์ และเครื่องสำอางสมุนไพร และกลุ่มคนเป้าหมาย อาทิ ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เป็นต้น

สำหรับ BCG Model หรือ Bio - Circular - Green Economy คือ “โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” เป็นแนวคิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลได้หยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติเมื่อต้นปี 2564 มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมสูงได้อย่างคุ้มค่า เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบต่างๆ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดการสร้างงานและการพัฒนาที่ทั่วถึง มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นประเด็นหลักในเวทีการค้าโลกปัจจุบัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์"นายจุรินทร์" ให้ความสำคัญเป็นนโยบายหลักกระทรวงพาณิชย์เนื่องจากต้องเจรจาการค้ากับคู่ค้าทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญกับ Bio - Circular - Green Economy หรือโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เป็นเทรนด์ของโลกและความยั่งยืนของภาคธุรกิจที่รัฐบาลทั่วโลกส่งเสริมและเป็นพันธกิจร่วมกันในหลายข้อตกลงของกลุ่มประเทศต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อไปยังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1169 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเวบไซต์ www.ditp.go.th


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment