COP26 : จากอุณหภูมิโลก สู่นัยยะทางเศรษฐกิจ

การประชุม COP26 หรือ the 26th UN Climate Change Conference of the Parties ณ เมือง กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 โดยผู้นำจากหลายประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมประชุมและแสดงเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดภาวะโลกรวน หรือ Climate Change โดยมีเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5◦C จากอุณหภูมิในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ภายในปี 2050 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มองว่า หากระดับอุณหภูมิของโลกเกินกว่า 1.5◦C จะเกิดภาวะโลกรวนจนไม่สามารถที่จะรับมือได้ โดยในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงจากการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นสูงในระดับ 1.2◦C

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากหลายสถาบันยังคงมองว่า ทุกประเทศควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 45% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2005 มากกว่าการเน้นเป้าหมายระยะยาวอย่างการไปสู่ Net Zero ในปี 2050 โดยองค์กร Climate Action Tracker (CAT) ได้ประเมินว่า แม้ว่าทุกประเทศจะดำเนินการตามเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 ได้ตามที่แจ้งไว้นั้น ระดับก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 จะยังเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นสองเท่าจากระดับที่ต้องการ และจะทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2.4◦C ภายในปี 2100 ซึ่งสูงกว่า 1.5◦C ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก ในขณะที่ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) คาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มถึง 1.5◦C ภายในช่วงต้นทศวรรษ 2030 จะส่งผลต่อการละลายของธารน้ำแข็งและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อประเทศในที่ลุ่มต่ำและประเทศแถบชายฝั่งทะเล

ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการที่ผู้นำทั่วโลกมารวมตัว เพื่อยืนยันเจตนารมณ์และตกลงร่วมกันในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย Net Zero ที่ประชุม COP26 ได้มีการเจรจาให้ประเทศต่าง ๆ เร่งดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ

· การลดการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของผืนดิน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างยั่งยืน โดยมีรัฐบาล 141 ประเทศ เข้าร่วมในลงนามแสดงเจตนารมณ์ในการรักษาป่าไม้ ซึ่งรวมถึง 4 ประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำในการปล่อย CO2 อย่าง จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย อย่างไรก็ดี ประเทศอินเดีย กลับไม่ได้เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์ในครั้งนี้ด้วย สำหรับประเทศอาเซียนนั้น มีผู้เข้าร่วม 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย โดย ไทย ลาว พม่า และกัมพูชา ยังไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมครั้งนี้

· การลดการผลิตก๊าซมีเทนอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 (เทียบกับระดับในปี 2020) ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดอุณหภูมิของโลกลงอย่างน้อย 0.2 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 โดยมีรัฐบาล 104 ประเทศเข้าร่วมลงนามในการลดการผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิล ถ่านหิน และจากภาคการเกษตรโดยเฉพาะปศุสัตว์ อย่างไรก็ดี ประเทศ จีน อินเดีย และรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมด้วย สำหรับประเทศอาเซียน มี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่เข้าร่วมลงนาม โดย บรูไน ไทย มาเลเซีย ลาว พม่า และกัมพูชา ยังไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมครั้งนี้

· การลดและยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินภายในปี 2040 มีรัฐบาลกว่า 40 ประเทศที่เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์ แต่ไม่รวมถึงประเทศผู้ผลิตและใช้พลังงานถ่านหินเป็นหลักอย่าง จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตประมาณ 50% ของการผลิตพลังงานจากถ่านหินทั่วโลก อย่างไรก็ดี จีนและสหรัฐอเมริกา ได้มีการออกประกาศข้อตกลงร่วมกันสำหรับความพยายามลดการใช้พลังงานจากถ่านหินในช่วงปี 2026 – 2030 สำหรับประเทศอาเซียน มีเพียง สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซียที่เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์

· การเปลี่ยนผ่านไปสู่การจำหน่ายและการใช้ยานยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2035 สำหรับประเทศผู้นำตลาดยานยนต์ และภายในปี 2040 สำหรับประเทศที่เข้าร่วม โดยมีรัฐบาล 32 ประเทศ เข้าลงนามร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 11 แห่ง และแพลตฟอร์มที่มีการใช้ยานยนต์อีกกว่า 20 แห่งทั่วโลก ซึ่งประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมด้วยนั้น มีเพียงกัมพูชา ประเทศเดียวที่แสดงเจตนารมณ์ในด้านนี้ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้เข้าร่วมแสดงเจตนารมด้วยแต่อย่างใด แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการประกาศนโยบายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศทั้งหมดภายในปี 2030

· การลดก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ (Shipping) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซ CO2 3% ของสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 ทั่วโลก โดยมีกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร รวม 19 ประเทศ ได้เข้าร่วมตกลงในการเปิดเส้นทางการค้าทางทะเลที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกระหว่างกัน

· การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร และการผลิตอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีรัฐบาลจาก 18 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย เข้าร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและสถาบันการเงินระหว่างประเทศรวมกว่า 160 แห่งทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในเรื่องนี้

สำหรับท่าทีของไทยนั้น ยังไม่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในด้านอื่น ๆ ที่ชัดเจนในที่ประชุม COP26 นอกเหนือจากการประกาศการเข้าสู่การเป็น Net zero ในปี 2065 นั้น เนื่องจากยังคงมีขั้นตอนและกระบวนการที่จะต้องนำเสนอข้อตกลงให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อนที่จะประสานแจ้งให้เจ้าภาพทราบเป็นทางการ ดังนั้น ยังคงต้องติดตามท่าทีและการดำเนินการของไทยในการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศนั้น จะส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นในทุกปี และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งกรีนพีซได้ทำการศึกษา 7 เมืองใหญ่ในทวีปเอเซีย พบว่า ภาวะโลกรวนจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนและน้ำท่วม โดยคาดว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมแล้วกว่า 5.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปี ซึ่งภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นนี้ คงจะทำให้ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะงบฉุกเฉินเพื่อช่วยผู้ประสบภัย รวมถึงงบในการฟื้นฟูและเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนการป้องกันภัยธรรมชาติที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากรายจ่ายดังกล่าวมีขนาดที่เพิ่มขึ้นตามความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างที่คาดการณ์กันเอาไว้ ก็คงจะทำให้เกิดประเด็นด้านเศรษฐกิจตามมา อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตามองการดำเนินการของแต่ละประเทศที่ได้เข้าร่วมประชุม COP26 ในครั้งนี้ ว่าจะมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย Net Zero มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นสองอันดับแรก ซึ่งทั้งสองประเทศได้มีการประกาศเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นทางการร่วมกันไปเมื่อวันที่ 10พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา รวมถึง ความชัดเจนในการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานและกระบวนการในการซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Paris Agreement Rulebook ขององค์การสหประชาชาติ ที่จะมีการนำเสนอรายละเอียดในการประชุม COP27 ครั้งต่อไปที่ประเทศอียิปต์ และการดำเนินมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่จะบังคับให้ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป จะต้องมีการจัดทำ Carbon Footprint และการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน (Carbon Price) ตามที่ EU กำหนด สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซ CO2 จำนวนมากอย่าง เหล็ก ซีเมนต์ ปุ๋ย อลูมิเนียม และการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มมีการบังคับใช้ในปี 2023 นี้

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าการประชุม COP26 ที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นไป อาจจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ได้ 100% โดยยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามความคืบหน้า แต่อย่างน้อยก็ได้ทำให้ทุกภาคส่วนในหลายประเทศทั่วโลก ตระหนักถึงความสำคัญและเร่งด่วนของวิกฤตก๊าซเรือนกระจกและการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิโลก โดยความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น จนอาจนำมาสู่ภัยพิบัติและผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลายด้านนั้น ทำให้รัฐบาลของนานาประเทศ คงจะต้องหันมาให้น้ำหนักในประเด็นเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ทั้งในการวางแผนและคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระยะกลางถึงระยะยาว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment