เกาะติดข่าวหลังน้ำท่วมผ่าน High-Frequency Indicator


ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่เกษตรกรรวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานธุรกิจข้าวต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาในด้านการผลิตและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากของโรงสี (เกือบ 2 เท่าของปริมาณข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบในแต่ละปี) อีกทั้งการบริโภคในประเทศก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น หนำซ้ำยังมีแนวโน้มลดลงตามกระแสรักษ์สุขภาพอีกด้วย ขณะที่การส่งออกข้าวก็ยากขึ้น เนื่องจากราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยยังสูงกว่าคู่แข่งและมีแนวโน้มที่จะถูกตีตลาดจากข้าวพื้นนุ่มของเวียดนามที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดโลก จึงมีความกังวลและเกิดคำถามว่าปัญหาอุทกภัยในปีนี้ที่ขยายวงไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง จะมาซ้ำเติมธุรกิจข้าวอีกหรือไม่ ผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใด รวมถึงพื้นที่ไหนและจังหวัดใดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

เครื่องมือที่ช่วยประเมินผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติก้าวหน้าแค่ไหน?

ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยในการวิเคราะห์ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ จากเดิมที่ใช้วิธีการลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งในบางครั้งข้อมูลอาจล่าช้าและไม่ทันเหตุการณ์ โดยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจัดเป็นข้อมูล High-Frequency Indicator ซึ่งความถี่ในการอัพเดทข้อมูลเป็นรายวัน ทำให้ช่วยติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติล่าสุดได้ ยกตัวอย่างเช่นแผนที่ดาวเทียมของ GISTDA ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2021 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง ได้แก่ จังหวัดในภาคกลาง คือ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี (รูปที่ 1)


ประเมินผลผลิตข้าวเสียหายเท่าไหร่? ผลผลิตข้าวจังหวัดไหนได้รับความเสียหายมากสุด?

จากข้อมูลทางดาวเทียมของ GISTDA พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้มีประมาณ 3.9 ล้านไร่ โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะได้รับเสียหายจริงประมาณ 1.6 ล้านไร่ หรือคิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,400 ล้านบาท โดยผลผลิตข้าวที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่เป็นข้าวที่อยู่ในระยะ (Stage) ของการเจริญเติบโต หรือข้าวที่ออกรวงและพร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนข้าวที่เพิ่งหว่านคาดว่าจะสามารถทนน้ำได้ และหากเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขังนาน ข้าวจะไม่เสียหายมากนัก โดยปกติข้าวจะทนน้ำได้อย่างน้อย 15 วัน ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น จังหวัดที่คาดว่ามีผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และขอนแก่น ตามลำดับ


ความเสียหายเมื่อเทียบกับอุทกภัยปี 2011 และภัยแล้งในปี 2015

หากเทียบกับความเสียหายจากมหาอุทกภัยในปี 2011 และปัญหาภัยแล้งในปี 2015 เรียกได้ว่าอุทกภัยปีนี้มีสัดส่วนความเสียหายน้อยมาก โดยจากข้อมูลของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้ว่าอุทกภัยปี 2011 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายอยู่ที่ 11.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมถึง 43,601 ล้านบาท มากกว่าความเสียหายในปีนี้ถึง 8 เท่า ขณะที่ภัยแล้งในปี 2015 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายอยู่ที่ 2.9 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 10,508 ล้านบาท มากกว่าครั้งนี้ประมาณ 2 เท่า และนอกจากปัญหาอุทกภัยในรอบนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวมากนักแล้ว คาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำสะสมใช้การได้ในเขื่อนอยู่ในระดับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีให้ช่วงฤดูแล้งของปี 2022 จะมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก


ทิศทางธุรกิจข้าวปี 2022 จะเป็นอย่างไร?

Krungthai COMPASS มองว่า ในปี 2022 ผลผลิตข้าวเปลือกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 32 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 6.3%YoY จากสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะดีขึ้นแต่ไม่มากนัก โดยอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านตัน และยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับในช่วงปี 2007-2018 ที่เคยส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน ทั้งนี้ เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่า จะทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันกับราคาข้าวที่ต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้ยากขึ้น อีกทั้งคาดว่าผลผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น เวียดนามและอินเดีย จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ยิ่งทำให้การแข่งขันในตลาดข้าวโลกรุนแรง จึงคาดว่าราคาขายส่งข้าวสารของไทยจะมีแนวโน้มลดลง โดยประเมินว่าในครึ่งแรกของปี 2022 ราคาขายส่งข้าวขาว 5% เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 11,270 บาท/ตัน หรือลดลง 21.1%YoY ส่วนราคาขายส่งข้าวหอมมะลิ 100% เฉลี่ยจะอยู่ที่ 18,668 บาท/ตัน หรือลดลง 20.7%YoY นอกจากนี้ ปัญหาต้นทุนค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยถ่วงอัตรากำไรของธุรกิจ



Implication:

แม้อุทกภัยรอบนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวอย่างมีนัยสำคัญ แต่ธุรกิจโรงสียังมีความเสี่ยงด้านวัตถุดิบที่มีน้อยกว่ากำลังการผลิตโดยรวม ประกอบกับต้องแข่งขันด้านราคาในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อรักษากำลังการผลิต ทำให้

มีต้นทุนในการผลิตสูง ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารถูกกดดันจากตลาดส่งออก ส่งผลให้ Margin ของธุรกิจโรงสีข้าวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งหากมีสต็อกเดิมเหลืออยู่และระบายออกไม่ทันจะยิ่งมีความเสี่ยงขาดทุนสต็อกมากขึ้น

ปัญหาภัยธรรมชาติเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากและส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวเปลือก ดังนั้น ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจข้าวควรให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลเผยแพร่ทั้งจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ โดยทาง Krungthai COMPASS ได้รวบรวมไว้เบื้องต้น ดัง Box.1

เครื่องมือที่ใช้ในการติดตามสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ

1. แนวโน้มการเกิด El nino หรือ La Nina

https://iri.columbia.edu/our-expertise/climate/forecasts/enso/current/

แสดงผลพยากรณ์ความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฎการณ์ El nino (ภาวะฝนแล้ง) หรือ La nina (ภาวะฝนมาก) ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าโอกาสเกิด La nina ในช่วงต้นปีหน้าน้อยลง โดยผลพยากรณ์ต้นเดือนตุลาคม 2021 แสดงให้เห็นว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฎการณ์ La Nina (กราฟแท่งสีน้ำเงิน) ในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมอยู่ที่ 65-85% (ภาพล่างด้านซ้าย) แต่ผลพยากรณ์เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2021 กลับพบว่า ความน่าจะเป็นที่สภาพอากาศจะอยู่ในปรากฎการณ์ La Nina ในช่วงเดียวกัน ลดลงไปอยู่ที่ 45-72% (ภาพด้านล่างขวา) สอดคล้องกับความน่าจะเป็นที่สภาพอากาศจะอยู่ในภาวะปกติ (กราฟแท่งสีเทา) ซึ่งผลพยากรณ์ต้นเดือนตุลาคม 2021 อยู่ที่เพียง 12-35%(ภาพด้านล่างซ้าย) แต่ผลพยากรณ์เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2021 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 28-55% (ภาพด้านล่างขวา)

2. ทิศทางกระแสลมและพายุ

https://earth.nullschool.net/ แสดงภาพการเคลื่อนไหวและทิศทางของกระแสลมและการเคลื่อนตัวของพายุ โดยการเคลื่อนไหวของลมในเดือนพฤศจิกายน 2021 จะเห็นได้ว่ามีกระแสลมเคลื่อนตัวผ่านบริเวณภาคอีสานและภาคใต้ของไทย ทำให้ยังคงมีฝนตกในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งหากมีการเคลื่อนตัวของพายุผ่านประเทศไทย ภาพจะแสดงเป็นกระแสลมแบบหมุนวน


3. คาดการณ์ปริมาณน้ำฝน

https://iri.columbia.edu/our-expertise/climate/forecasts/seasonal-climate-forecasts/ แสดงการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ โดยหากพื้นที่ใดมีแถบสีขาว (อยู่ในกลุ่ม Normal) แสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณฝนตกปกติ เช่น ในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2022 คาดว่าในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางของไทยฝนจะตกปกติ ขณะที่พื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกมากกว่าปกติ (แถบสีเขียว)


4.ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้รายภาค

http://nationalthaiwater.onwr.go.th/dam พิจารณาเบื้องต้นจากปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้จริง หากต่ำกว่า 30% แสดงว่าอยู่ในระดับวิกฤต


5.ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมจากดาวเทียมของ Gistda

https://flood.gistda.or.th/ พื้นที่สีน้ำเงินคือ บริเวณที่เกิดน้ำท่วมขัง โดยข้อมูลจะอัพเดตเป็นรายวัน



COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment