รัฐพลาด...ทีวีดิจิทัลชะงัก “นที” รับนโยบายผิด แผนล่าช้า เอกชนไม่ทัน ต้องอุ้ม อดีตผ่านแล้วผ่านเลย???

เป็นคำถามในวงการทีวีดิจิทัล และโต้เถียงกันว่าสิ่งที่รัฐ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท) วางแผนเสียอย่างดิบดี ทำไมถึงสร้างความขุ่นข้องแหนงใจให้วงการทีวีดิจิทัล

โดยเฉพาะเมื่อศาลปกครองกลางพิพากษาให้ บริษัทไทยทีวี ของ นางพันธ์ทิพา ศกุนต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล สามารถบอกเลิกสัญญาการประมูลทีวีดิจิทัลได้ และ กสทช. ต้องคืนเงินค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท แม้จะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติม ก็บ่งบอกถึงสภาพปัญหาการวางแผนโปรโมททีวีดิจิทัลที่ผ่านมาได้พอสมควร แม้ กสทช.จะยื่นอุทธรณ์ ก็เป็นเรื่องอนาคตที่ยังบอกไม่ได้

แล้วการที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธาน กสท. ผู้วางแผนทีวีดิจิทัลออกมาให้ข้อมูลรับว่า ปัญหาของทีวีดิจิทัลเกิดจากหลายปัจจัย

1. การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 จากที่กำหนดให้เงินประมูลทีวีดิจิทัลนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมทีวีของประเทศ เป็นรายได้เข้าแผ่นดิน ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทำได้ช้า

2. การแจกคูปองทีวีดิจิทัล เพื่อแลกซื้อกล่องดิจิทัล (SET TOP BOX) ซึ่งมีขึ้นตอนการแจกและการอนุมัติของ กสทช.มีความล่าช้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ส่วนราคาที่กำหนดไว้ 690 บาท จากราคาที่ตั้งไว้ 1,100-1,200 บาทนั้น ก็ไม่จูงใจให้ประชาชนแลกกล่อง และไม่จูงใจให้ผู้ผลิตกล่องออกมา เพราะกำไรไม่น่าสน สุดท้ายมีผู้ใช้คูปองแลกเพียง 9 ล้านใบจากทั้งสิ้น 22.9 ล้านใบ

3. การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2557 มีความซบเซา กระทบต่อการเริ่มต้นของทีวีดิจิทัล

4. ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่สามารถผลิตเนื้อหารายการให้มีความหลากหลายและแตกต่างได้ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการดูทีวีผ่านแพลตฟอร์มบนสมาร์ทโฟน มากขึ้น

5. เม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่อย่างจำกัดถูกกระจายออกไป ไม่สามารถทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้

ดังนั้น กสทช. เห็นว่า หากไม่ให้การดูแลเยียวยาธุรกิจทีวีดิจิทัล ก็อาจทำให้เกิดปัญหามากขึ้นต่อไป จึงได้นำเสนอแผนให้รัฐมาช่วยเหลือ คือ การพักชำระค่าประมูลออกไปเป็นเวลา 3 ปี และ การแบ่งเบาค่าเช่าใช้โครงข่ายทีวีดิจิทัล ซึ่ง กสทช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 50% เป็นระยะเวลา 24 เดือน

คาดว่ามาตรการที่ออกมา จะช่วยโอบอุ้มให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีเงินทุนเหลือไปพัฒนาเนื้อหารายการที่ดี มีความแตกต่าง สร้างประโยชน์และความน่าสนใจดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอีกทอดหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การควบคุมธุรกิจ OTT ที่ กสทช.ไม่ดำเนินการ เพราะหากไม่ดูแล ก็อาจสร้างความไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจทีวีไทยได้

อย่างไรก็ตาม แม้คนใน กสทช.จะออกมาให้เหตุผลถึงสิ่งที่เกิดความเสียหายในระบบทีวีดิจิทัล จนรัฐต้องเข้าไปอุ้ม แต่ไม่บอกว่า บุคคลที่อยู่ในกระบวนการเหล่านี้จะมีใครต้องร่วมกันรับผิดชอบกันบ้าง

หรือปล่อยให้ กสทช. ชุดใหม่เข้ามารับช่วงกันต่อ

ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป...เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น????

------------------

ขอบคุณข้อมูลจาก - เว็บไซต์ไทยรัฐ , นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

-----------------


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment