TPIPP เดินหน้าโครงการ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

TPIPP เดินหน้าโครงการ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หลังสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ สั่งยึดมติ ครม.อย่างเคร่งครัด

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) TPIPP เปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะกลายเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ และ นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ

ล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้สรุปผลการดำเนินงานแก่นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อย หลังได้รับข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างครบถ้วนแล้ว ทางนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พิจารณาขยายผลโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่มีมติเห็นชอบขยายผลสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เรื่องโครงการพัฒนาอำเภอจะนะ ของบริษัทฯ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับหน้าที่ไปประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตามมาตรา 7, 9, 10 และ 18 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เร่งรัดโครงการนี้ และมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เพื่อรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปลี่ยนสีผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการฯ นอกจากนี้ให้เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนภาครัฐฯ ในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเพิ่มการสร้างงานและรายได้ ให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยได้กำหนดแผนลงทุน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับอำเภอจะนะให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ กระจายสู่อาเซียน

แผนลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย (1) สวนอุตสาหกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีแห่งอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (2) เมืองอัจฉริยะ (smart city) อาทิ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมดิจิทัล, ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, ศูนย์การฝึกและพัฒนาอาชีพ, ศูนย์กลางทางด้านการเงินทุกรูปแบบและครบวงจร, ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและที่พักอาศัย (3) ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้า (ทั้งระบบถนนและระบบราง) และ (4) ศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ และแก๊สธรรมชาติ (LNG) รวม 3,700 MW

“สำหรับเหตุผลที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพราะนักลงทุนไม่มีความมั่นใจสภาพการเมืองในภาคใต้ ไม่มีใครกล้ามาลงทุน เกิดปัญหาด้านการว่างงานทางภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรมของภาคใต้ อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) จึงวางแผนให้เชิญชวน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) มาลงทุนสร้างเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยความเห็นชอบของครม. ตามมติ ครม.ในปี 2562 อันประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต รวมทั้งโรงไฟฟ้า 3,700 MW การสร้างอุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสามารถสร้างงาน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศอย่างมหาศาล และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความมั่นคงของประเทศ จะเป็นการดับไฟได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อพื้นที่มีความเจริญ ผู้คนมีงาน มีเงิน มีรายได้ ตามนโนบาย “อยู่ดี กินดี มีสุข” ของภาครัฐ ไฟใต้ก็จะสงบลง สร้างความมั่นคงใหกับประเทศ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโครงการควมมั่นคงของประเทศตามมติครม.ให้กระทรวงและหน่วยงานราขการทุกแห่งให้การสนับสนุน และให้ความสำคัญอย่างเคร่งครัดในการพิจารณา ให้ความสำคัญเป็นอันดับสูงสุดเหนือโครงการอื่น โดยต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการอื่นให้เหมาะสมกับโครงการนี้ ในกรณีที่มีความขัดกันเช่น ถ้าใน PDP18 เกิดความไม่ลงตัวในความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศก็ควรเลื่อน การสร้างโรงไฟฟ้า 5,000 MW ที่ยังมีปัญหาในปปช.ออกไป จนกว่า ปปช.ตัดสินเรียบร้อยแล้ว และให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามโครงการความมั่นคงของประเทศนี้มาแทนที่ไปก่อน” นายภัคพล กล่าวทิ้งท้าย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment