ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรงต่อเนื่อง

FETCO เผยดัชนีเชื่อนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรงต่อเนื่อง คาดหวังCovid-19 คลี่คลาย แต่ยัง

กังวลกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า “ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 152.19 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.8% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม นักลงทุนคาดหวัง

การคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 จากการที่ไทยได้รับวัคซีนลอตแรกเป็นปัจจัยหนุนหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤษภาคม 2564) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120 -159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 152.19

ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” กลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)

หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดเหล็ก (STEEL)

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ Covid-19 คลี่คลายจากการได้รับวัคซีน

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดธนาคาร (BANK) และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเหล็ก (STEEL) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดแฟชั่น (FASHION) และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 SET index มีความเคลื่อนไหวในกรอบแคบ อยู่ระหว่าง 1,478.05 – 1,523.11 ซึ่งในเดือนนี้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 ซึ่งหดตัวลงที่ระดับ -6.1% จากผลกระทบต่อเนื่องของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ทำให้อุปสงค์ภายนอกประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและบริการในภาพรวมยังคงอ่อนแอ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายเดือน FTSE Russell ประกาศลดสัดส่วนหุ้นไทยในการคำนวณดัชนี อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนโดยรวมยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ FED ประกาศใช้มาตรการ QE อัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง การมาถึงของวัคซีน Covid-19 “ซิโนแวค” ลอตแรก และการที่มีนักลงทุนรายใหม่เปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากเกือบแสนบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ OR ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ SET Index ปิดที่ 1,496.78 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.03% จากเดือนก่อนหน้า



ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยคลาย Lock Down ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาหลังจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และผลการประชุมของ 3 ธนาคารกลางหลัก (Fed, ECB และ BoJ) หลัง Bond Yield ในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ กระบวนการแจกจ่ายวัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามซึ่งหากไม่ได้รับความเห็นชอบ อาจส่งผลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอีกครั้ง

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมีนาคม 2564

ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่า กนง. จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 1 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการสำรวจเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปีอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยจากต่างประเทศจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นสูงมากในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลเรื่อง COVID-19 ที่ลดลง และการแจกจ่ายวัคซีนในวงกว้างมากขึ้นอาจส่งผลให้นักลงทุนขายสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลและเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 และ 10 ปีอาจปรับตัวลดลงเนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นสูงเกินกว่าปัจจัยทางพื้นฐานมาก และอาจมีการแทรกแซงจาก ธปท. ได้หากอัตราผลตอบแทนขึ้นสูงเกินไป

ส่วนนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมีนาคม 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์นี้อยู่ที่ระดับ 47 เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนมีนาคมนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแล้ว และ คาดว่า ธปท. ยังต้องติดตามการขยายตัวเศรษฐกิจ และมาตรการการคลังที่จะออกในปีนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “เพิ่มขึ้น (Increase)” โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากครั้งก่อนจากการมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจะเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.89% และ 1.50% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (19 ก.พ. 64) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึง Fund Flow ต่างชาติเป็นหลัก


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment