เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานปี 2564

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานปี 2564 เป็นปีแห่งการเติบโต ความยั่งยืนและความยืดหยุ่น

ในปี 2563 แผนธุรกิจต่างได้รับผลกระทบอย่างไม่คาดคิดเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนปัจจุบันก็ยังมีความไม่แน่นอนจากการระบาดครั้งนี้อยู่ อย่างไรก็ตามธุรกิจทั่วโลกต่างก็ต้องดำเนินต่อไป เคพีเอ็มจีได้ออกรายงานบทวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกในปี 2564

นายธเนศ เกษมศานติ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการและหัวหน้าดูแลรับผิดชอบฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและรัฐบาลของเคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว “โดยใน ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการเติบโต ความยั่งยืนและความยืดหยุ่น ซึ่งเราเห็นว่าอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานของโลกจะมีแนวโน้ม 10 ประการดังต่อไปนี้

แนวโน้มที่ 1: ความไม่แน่นอนทำให้เกิดความซับซ้อนในการวางแผน

เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงจากดิสรับชั่น การพัฒนาและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต้องแยกความแตกต่างระหว่างความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบชั่วคราวกับผลกระทบถาวร โดยเฉพาะเมื่อการตัดสินใจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีอายุการใช้งานในระยะยาว เมื่อขาดความแน่นอน เจ้าของและการวางแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจึงต้องพยายามมองหาโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัทในระยะยาวโดยมีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น ในปีนี้เราคาดว่าการวางแผนลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานจะเน้นความคล่องตัวและความยืดหยุ่นมากขึ้น ประกอบกับการให้ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลในการตัดสินใจ

แนวโน้มที่ 2: การพัฒนาและจุดยืนของเมืองในอนาคต

ในปีนี้การวางแผนด้านผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมืองต้องพิจารณาและวิเคราะห์เพื่อประเมินความต้องการทางโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เมืองควรเข้าใจความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปและพัฒนาในบริบทที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อสามารถพัฒนาเมืองไปในทิศทางที่เหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว เช่น สมาร์ทซิตี้ที่ขับเคลื่อนโดยระบบดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของพลเมืองและมีส่วนช่วยให้รัฐบาลสามารถพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเมืองที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

แนวโน้มที่ 3: เส้นแบ่งพรมแดนประเทศมีบทบาทมากขึ้น

การปิดพรมแดนระหว่างประเทศในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายของแต่ละประเทศ การค้าขาย การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการขนส่งระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสนามบินและท่าเรือขนส่งสินค้าต่างเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีและระบบปฏิบัติการอัตโนมัติจะเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการในการค้า ในปีนี้คาดว่าจะเห็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเทคโนโลยี การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ การใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อรองรับการปฏิบัติการต่างๆ ในสนามบิน และการพัฒนาระบบกลไกอื่นๆ ที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันในห่วงโซ่การผลิตและจัดจำหน่าย

แนวโน้มที่ 4: เครือข่ายอุปทานของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน

การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างกำลังจะเพิ่มขึ้น จากการจำกัดการเคลื่อนย้าย หลายองค์กรเริ่มเพิ่มการลงทุนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กรของตนเองเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลง เราคาดว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะให้ความสำคัญต่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานในทุกมิติ ซึ่งในบางกรณีการพัฒนาโครงการอาจจะให้ความสนใจในการหาซัพพลายในแหล่งอื่นทั้งในประเทศและประเทศใกล้เคียงเพื่อการมีวัตถุดิบที่เพียงพอ การเก็บสินค้าคงคลังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยในอนาคต ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสในการเติบโตของซัพพลายเออร์รายใหม่และรายเล็ก

แนวโน้มที่ 5: ยุคที่มีจำนวนเงินมากในตลาดการเงิน

ในปี 2564 จากนโยบายทางการเงินที่ยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ ได้มีการเพิ่มกระแสเงินสดจำนวนมากเข้าสู่ตลาดการเงินในหลายช่องทาง ซึ่งส่งผลต่อการนำเสนอรูปแบบผลิตภัณท์ทางการเงินใหม่ๆ อีกทั้งเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญหรือบริษัทประกันที่ต้องการที่จะลงทุนทั้งในโครงการที่ดำเนินในปัจจุบันและโครงการใหม่เพื่อผลตอบแทนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในตลาดและแหล่งเงินทุนที่มีมากขึ้นได้สะท้อนว่าการวางแผนลงทุนในรูปแบบการเงินที่เหมาะสมในโครงการที่มีการวางแผนที่ดีโดยฉพาะตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) จะสามารถดึงดูดนักลงทุนที่ยอมรับในผลตอบแทนที่น้อยลง เราคาดว่านักลงทุนจะสนใจโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ในเรื่องการได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อและให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาวในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังต่ำอยู่

แนวโน้มที่ 6: โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสะอาดต่อสังคม

ไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมและอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานมุ่งไปสู่โครงการที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมรวมทั้งมีบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากต่อกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนำไปสู่สังคมที่มีความเป็นธรรมและเสมอภาคมากขึ้นสำหรับทุกคน รัฐบาลในหลายประเทศได้เห็นพ้องและเห็นความสำคัญโดยได้ออกนโยบายสำคัญๆ ที่สนับสนุนด้าน ESG

แนวโน้มที่ 7: ความยืดหยุ่นในการปรับสภาพ (Resilience) ของโครงสร้างพื้นฐานได้รับความสำคัญมากขึ้น

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่ได้รับความสนใจในหลายๆ เดือนที่ผ่านมา อีกด้านหนึ่งรัฐบาลและเจ้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับความยืดหยุ่นและการปรับสภาพของโครงสร้างพื้นฐานต่อความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ นอกจากความเสี่ยงทางภูมิอากาศแล้ว คำว่ายืดหยุ่น (Resilience) ในที่นี้ยังมีความหมายที่กว้างขึ้นว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่างหันมาประเมินโครงสร้างพื้นฐานของตนในด้านความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างกระทันหันในอนาคต ในปีนี้เราคาดว่าเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญและมีความเคร่งครัดในเรื่องความยืดหยุ่นและการปรับสภาพของโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ด้านมากขึ้น

แนวโน้มที่ 8: ความปลอดภัยในยุคดิจิทัล

ปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกสิ่งเชื่อมต่อกัน (Hyperconnectivity) เทคโนโลยีที่สร้างความเชื่อมต่อเช่น 5G และคลาวด์จะเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมและสร้างคุณค่าให้กับโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลจะเริ่มเล็งเห็นความสำคัญในการลดช่องโหว่ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล (Digital infrastructure) เพื่อผลักดันความเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน

แนวโน้มที่ 9: โอกาสของรัฐบาลในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ในปีนี้ เราคาดว่ารัฐบาลและผู้ดูแลโครงสร้างพื้นฐานจะทำการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโควิด-19 ว่ามีเรื่องใดบ้างที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร เช่น การเรียนแบบ Online learning และการให้บริการทางสุขภาพระยะไกล (Distance healthcare delivery) ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านสิทธิความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของพลเมือง เช่น แอพลิเคชั่นเก็บข้อมูลต่างๆ ที่ถูกใช้สำหรับการเฝ้าระวังหรือป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิด้านความเป็นส่วนตัวนี้จะมีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต

แนวโน้มที่ 10: รัฐบาลมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ

ในปัจจุบันรัฐบาลได้มองหาพันธมิตรทางธุรกิจจากภาคเอกชนเพื่อพัฒนาและลงทุนร่วมกัน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีสำหรับภาคเอกชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะพันธมิตรที่สามารถช่วยให้รัฐบาลเข้าถึงความเชี่ยวชาญความสามารถในการพัฒนาโครงการและจัดหาแหล่งการเงินเพิ่มขึ้น เช่น การที่รัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาและขนส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยความร่วมมือทางธุรกิจเหล่านี้จะเป็นการผลักดันที่สำคัญเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment